ชำแหละ “พ.ร.ก.ต่างด้าว” เทียบข้อดี-ข้อเสีย…ก่อนตัดสินใจ

การเคลื่อนไหวเรียกร้องของสมาคมองค์กรเอกชน ที่เสนอให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและ อุตสาหกรรม หลังการประกาศบังคับใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อ 23 มิ.ย. 2560 ยังมีต่อเนื่อง

ล่าสุด แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคน ต่างด้าว ยืดระยะเวลาบังคับใช้ มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ออกไป 180 วัน ยกเว้นโทษปรับ จำคุก ลูกจ้างต่างด้าวกับนายจ้างหลายกรณี ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 6 ก.ค. 2560 โหวตผ่านให้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แปลงโฉมเป็น พ.ร.บ.สมบูรณ์แบบ แต่เสียงสะท้อนด้านลบยังไม่จบ

ราวกับกฎหมายฉบับนี้มีจุดอ่อนมากกว่า ข้อดี สวนทางกับคำยืนยันของ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน รวมทั้ง นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ที่ชี้ว่าจุดดีมีมากกว่าข้อด้อย โดยเฉพาะการป้องกันแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวในระยะยาว ผลพวงจากการปล่อยปละละเลยไม่มีการควบคุมดูแลตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

ย้อนปม พ.ร.ก.เผือกร้อน

Advertisment

กฎหมายฉบับเผือกร้อนมาจากการควบรวม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 กับ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 เป็นกฎหมายใหม่ เพื่อบริหารจัดการต่างด้าวทั้งระบบ ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม มีทั้งหมด 8 หมวด 133 มาตรา กับบทเฉพาะกาล มาตรา 134-145 สาระสำคัญประกอบด้วย บททั่วไป ว่าด้วยเรื่องการออกประกาศกำหนดให้งานใดเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำ การห้ามคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต หรืองานต้องห้าม การกำหนดค่าธรรมเนียมเรียกเก็บจากนายจ้าง เป็นต้น

จัดระเบียบต่างด้าวทั้งระบบ

บทบัญญัติ ว่าด้วย “คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว” ซึ่งกฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเอกชน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ แนวทางแก้ไขปัญหาการทำงานของคนต่างด้าว

เบื้องต้นให้คณะกรรมการ พิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว 2551 ทำหน้าที่แทน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการตาม พ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้

Advertisment

บทบัญญัติว่าด้วยการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ การประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้าง รวมทั้งข้อปฏิบัติ ข้อห้าม กรณีนายจ้างนำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศ

ทั้งนี้ การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่จะกำหนดไว้ในกฎกระทรวง 1.กรณีผู้รับอนุญาตเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้าง 2.นายจ้างเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานเอง ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องวางหลักประกัน

บทบัญญัติว่าด้วย การขอใบอนุญาตทำงาน การแจ้งการทำงาน แจ้งเปลี่ยนประเภทงาน เปลี่ยนตัวนายจ้าง เงื่อนไขในการทำงาน ฯลฯ

ผุดกองทุนหนุนสวัสดิการ 8 พัน ล./ปี

และกำหนดให้มี กองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ขึ้นในกรมการจัดหางาน สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคน ต่างด้าว อาทิ ช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน ส่งคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักร

การช่วยเหลือเกี่ยวกับการบริหาร จัดการการทำงาน จัดสวัสดิการ การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ ถือเป็นการให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างคนต่างด้าว การให้นายจ้างและลูกจ้างคนต่างด้าวอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533

กองทุนดังกล่าวมี คณะกรรมการกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เป็นผู้บริหาร

ทั้งนี้ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน อาทิ เงินหรือทรัพย์สินที่โอนมาจากกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราช อาณาจักร เงินเพิ่มที่จัดเก็บจากนายจ้างเพิ่ม กรณีไม่จ่ายค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด เงินค่าธรรมเนียม ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินกองทุน เงินอุดหนุนจากรัฐ ฯลฯ

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงแรงงาน ณ ปี 2559 กองทุนมีเงินจากการจัดเก็บรายได้และอื่น ๆ กว่า 4,400 ล้านบาท

พิจารณา ตัวเลขค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ย้อนหลัง 4-5 ปีที่ผ่านมาเฉพาะค่ารักษาพยาบาลสูงถึงกว่า 8,000 ล้านบาท ไม่รวมสวัดิการด้านการศึกษา การช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินภาษีอากรที่คนไทยจ่ายเข้ารัฐ

ทบทวนโทษจับปรับหนัก

สำหรับบทกำหนดโทษ ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่ภาคเอกชนมองว่า อัตราโทษค่อนข้างหนักและรุนแรงนั้น (ตาราง) เนื่องจากกฎหมายใหม่ได้เพิ่มอัตราโทษทั้งจำคุก ปรับเพิ่มจากบทลงโทษตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ซึ่งอัตราโทษปรับอยู่ในระดับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท

ประเด็นดังกล่าว อธิบดีกรมการจัดหางาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ ให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องเพิ่มโทษให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้นายจ้าง ลูกจ้างคนต่างด้าว บริษัทจัดหางานเกรงกลัวกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาอัตราโทษต่ำ การฝ่าฝืนกฎหมายจึงมีให้เห็นมากและบ่อยครั้ง

แต่เมื่อเทียบกับกฎหมายใหม่หลายฉบับที่ทยอยก่อนหน้านี้ อัตราโทษใกล้เคียงกัน เช่น โทษเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ปรับ 400,000 บาท ใช้แรงงานเด็ก ปรับ 400,000 บาท ขณะที่โทษตาม พ.ร.ก.การประมง ปรับ 1,000,000 บาท โทษที่กำหนดไว้ภายใน พ.ร.บ.ดังกล่าวน่าจะเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการตามนโยบายนายกฯ รวมทั้งข้อเรียกร้องของเอกชนที่เสนอให้มีการทบทวน

ทั้งหมดคือบางส่วน ของการบ้านที่คนไทยทั้งประเทศต้องนำไปขบคิด ชั่งน้ำหนัก ก่อนชี้ขาดว่ากฎหมายใหม่ฉบับนี้ ประเทศชาติได้มากกว่าเสีย หรือเสียมากกว่าได้ จะได้ตัดสินใจถูก