“ยูนิลีเวอร์” ซีเอสอาร์ 3+1 เพิ่มคุณภาพชีวิต-รักษ์ สวล.

ยูนิลีเวอร์กำลังเร่งต่อยอดขยายผล แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน (Unilever Sustainable Living Plan) ให้เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขยายตัวทางธุรกิจ พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไปพร้อมกัน

แนวทางนี้เป็นเหมือนโจทย์ใหญ่ของบริษัทที่แต่ละแบรนด์ต้องขบคิดว่าจะทำอย่างไรในการผสมผสานแผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนเข้ากับแบรนด์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินงานของธุรกิจในรูปแบบ 3+1 เสาหลัก

“สาโรจน์ อินทพันธุ์” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ให้รายละเอียดว่า เสาหลักแรก คือ Brand Purpose ความตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านแบรนด์ เสาหลักที่ 2 เป็นเรื่องของการผลิต ทีมซัพพลายเชนต้องหากระบวนการในการลดใช้พลังงาน และไม่ปล่อยมลพิษออกสู่ภายนอก

เสาหลักถัดมา คือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งยูนิลีเวอร์มองภาพใหญ่ถึงปัญหาขยะ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของยูนิลีเวอร์จะต้องสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ส่วนเสาหลักที่บวกมาอีกแท่งคือ เรื่องคน ครอบคลุมตั้งแต่พนักงานภายในองค์กร ประชาชนทั่วไป ที่จะต้องเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้เอื้อต่อการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืน

หนึ่งในหลายผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ “คอมฟอร์ท น้ำเดียว” สามารถสะท้อนภาพแนวทางข้างต้นได้เป็นอย่างดี ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม อันมาจากการเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความแห้งแล้ง และการขาดแคลนทรัพยากรน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภค

Advertisment

การใช้คอมฟอร์ท น้ำเดียว ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้น้ำในการล้างฟอง จากเดิมที่ต้องใช้สามน้ำ มาเป็นการล้างฟองออกได้หมดเพียงน้ำเดียว ต่อการซักผ้าด้วยมือในแต่ละครั้ง จึงช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในการซักผ้าได้สูงสุดถึง 75% หรือประมาณ 30 ลิตร โดยในปีที่ผ่านมา คอมฟอร์ท น้ำเดียว ช่วยคนไทยลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการซักผ้าได้ถึง 15,000 ล้านลิตร หรือเทียบเท่ากับน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร ถึง 10,000 ล้านขวด

“จากการมองแค่ตัวผลิตภัณฑ์ เราได้ขยับมามองอีกขั้นว่า แล้วจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคได้อย่างไร จึงจัดกิจกรรมน้ำคือชีวิต แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตพอเพียง เพื่อมุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคและบริโภค และปลูกจิตสำนึกที่ดีให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เพื่อให้คนไทยปรับพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด”

กิจกรรมนี้เริ่มต้นที่ชุมชนกุดขาคีม จังหวัดสุรินทร์ ด้วยการร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการเข้าไปพัฒนาระบบน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์จะมีบทบาทสำคัญในด้านของน้ำเพื่อการอุปโภค ขณะที่ยูนิลีเวอร์จะช่วยเสริมส่วนน้ำบริโภคโดยได้เข้าไปติดตั้งระบบกรองน้ำ และก่อสร้างอาคารผลิตน้ำ เพื่อนำมาใช้ในการบริโภคได้ราว 6,000 ลิตรต่อวัน ทำให้ชาวบ้านมีน้ำดื่มพอเพียง และลดรายจ่ายของคนในชุมชน ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

“ดร.รอยล จิตรดอน” กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า พื้นที่ชุมชนกุดขาคีม จังหวัดสุรินทร์ อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ถือเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ประสบกับปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก และน้ำท่วมมาเป็นเวลานาน โดยมูลนิธิได้เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน ทั้งการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ การกระจายน้ำ การจัดทำระบบคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร และการปรับปรุงระบบนิเวศแหล่งน้ำ

Advertisment

“การใช้น้ำนอกระบบชลประทานของภาคอีสานมีถึง 94% คือพื้นที่ทางเกษตรของอีสานมี 64 ล้านไร่ แต่อยู่ในเขตชลประทาน 5 ล้านไร่เท่านั้น อีกทั้งด้วยลักษณะทางภูมิประเทศไม่ค่อยเหมาะกับการสร้างเขื่อน เราจึงเข้ามาฟื้นเรื่องกุด หรือการขยายเส้นทางน้ำ เพื่อเชื่อมต่อกับแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก โดยได้ทำครอบคลุมใน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ ชุมชนนาสว่าง ชุมชนกุดขาคีม บ้านศาลาหมู่ที่ 9 และบ้านสำเพ็ญหมู่ที่ 1 ซึ่งมีทั้งหมด 497 ครัวเรือน หรือ 2,376 คน ได้มีน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค”

โดยชุมชนจะมองทิศทางการไหลของน้ำว่าต้องเชื่อมต่อกับหมู่บ้านไหน เป็นการจัดทำแผนผังพื้นที่ชุมชนที่แสดงถึงแหล่งน้ำ พื้นที่เกษตร อันนำไปสู่การจัดสรรการใช้น้ำ และรู้ว่ามีด้านใดบ้างที่ต้องพัฒนาต่อ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการวางแผนปลูกพืช เพราะในยุคที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรจะต้องมีการปรับตัวให้ทัน และรู้จักวางแผนปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศในขณะนั้น ๆ

การบริหารจัดการน้ำของชุมชนในครั้งนี้ยังสามารถรองรับปัญหาของภาคอีสานที่ประสบทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งทุกปี โดยสิ่งสำคัญคือ เมื่อชุมชนมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำชุมชน ก็จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน ทำให้เกิดการร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์แหล่งน้ำ พร้อมกับสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นไม้ต่อของการดูแลในระยะยาว

ขณะที่ “สาโรจน์” เน้นย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ทุกแบรนด์ของยูนิลีเวอร์มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่าภาพเหล่านี้จะถูกสื่อสารออกมามากขึ้น เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของยูนิลีเวอร์กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภคทั่วโลก