ฝันหวาน ๆ ของโตโยต้า

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สกุณา ประยูรศุข

ต้นเดือนกันยายน มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูงานของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ที่เมืองนาโกย่าหมุดหมายสำคัญคือไปดูเรื่องของพลังงานในอนาคต เป็นพลังงานที่จะมาผลิตไฟฟ้าแทนน้ำมันดิบในปัจจุบันที่กำลังลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจศึกษาและทำการวิจัยของคนทั่วโลก ที่บริษัทโตโยต้า ก็เช่นเดียวกัน

สิ่งที่โตโยต้านำเสนอและแนะให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญของโลกยานยนต์ในอนาคต คือ รถยนต์ที่ไม่ใช้น้ำมันจะมีหน้าตาเครื่องยนต์เป็นอย่างไร ซึ่งที่โตโยต้าผลิตอยู่ตอนนี้มีทั้งแบบใช้ไฟฟ้าควบคู่น้ำมัน เรียกว่า ไฮบริด หรือใช้ไฟฟ้าอย่างเดียว และน้องใหม่มาแรงเป็นรถยนต์ในโลกอนาคตอย่างแท้จริง คือรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเหลวเป็นเชื้อเพลิง

รถไฮโดรเจนของโตโยต้ารุ่นแรกที่ผลิตออกมานี้มีชื่อว่า “MIRAI” ไม่แน่ชัดว่าออกเสียง “มิราอิ” หรือ “มิไร” แต่เท่าที่ได้ยินจากปาก “คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ” เรียก “มิไร” เลยขอออกเสียงตามประธานบอร์ดโตโยต้าก็แล้วกัน เจ้าหน้าที่โตโยต้าที่ญี่ปุ่นอธิบายว่า “มิไร แปลว่า อนาคต” จึงสอดคล้องกับบทบาทของโตโยต้าที่กำลังปรับเปลี่ยนการผลิตรถยนต์ในโลกอนาคตอยู่ขณะนี้

ระบบการทำงานของรถยนต์ไฮโดรเจน ใช้ระบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งจะทำหน้าที่แยกอิเล็กตรอนออกจากโมเลกุลไฮโดรเจน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น ไฟฟ้านี้จะไปขับเคลื่อนเครื่องยนต์ หลังจากนั้นก็ถูกนำกลับไปรวมตัวกับออกซิเจนอีกครั้งเพื่อปล่อยออกไปเป็น “น้ำ” ไม่ใช่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเท่ากับว่ารถไฮโดรเจนนอกจากไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์แล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

เจ้าหน้าที่ของโตโยต้าอธิบายอีกว่า ระหว่างการขับขี่รถไฮโดรเจนยังให้ความสะดวกสบาย เงียบไม่มีเสียงรบกวน ส่วนสมรรถนะเช่นเดียวกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน มีระยะทางการขับขี่ต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้งที่ 650 กิโลเมตร ใช้เวลาเติมไฮโดรเจนเพียงแค่ 3 นาที และระบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) นี้ โตโยต้าก็พัฒนาขึ้นมาเอง

สำหรับราคาจำหน่ายของรถมิไรในญี่ปุ่น ตกคันละ 6.7 ล้านเยน ประมาณ 1.8 ล้านบาท เมื่อเติมไฮโดรเจนเต็มถังสามารถวิ่งได้ระยะทางถึง 650 กิโลเมตร มากกว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าถึง 3 เท่า แถมยังใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงแค่ไม่กี่นาที อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฮโดรเจนที่ญี่ปุ่นผลิตขึ้นมานี้เพิ่งเปิดจำหน่าย โดยมีแผนนำรถพลังไฮโดรเจน 40,000 คัน ลงตลาดท้องถิ่นภายในปี 2020 ส่วนสถานีเติมไฮโดรเจนในญี่ปุ่น ขณะนี้มีมากกว่า 90 สถานีบริการ ขณะที่นาโกย่าเมืองโตโยต้ามี 3 สถานี

โตโยต้าไม่เพียงแต่ลงมือผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนเท่านั้น แต่ยังประกาศความตั้งใจที่จะแบ่งปันความรู้ “สิทธิบัตรรถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” จำนวน 5,700 สิทธิบัตรให้กับบริษัทรถยนต์รายอื่น ๆ ทั่วโลก ที่สนใจในการผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนเช่นเดียวกัน โดยไม่คิดค่าสิทธิบัตรเลยจนถึงปี 2563 และยังแจกฟรีอีก 70 สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจัดหาเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เป็นการแบ่งปันเทคโนโลยีซึ่งกันและกันกับประเทศอื่น ๆ

นอกจากในเมืองโตโยต้า ที่นาโกยาแล้ว บริษัทโตโยต้ายังขยายแนวร่วมรถไฮโดรเจนไปที่เมืองโตเกียว โดยตั้งเป้าว่าในตัวเมืองจะเร่งติดตั้งสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากเดิมที่มี 8 แห่ง เพิ่มเป็น 35 แห่งในปี 2020 ขณะที่สภานครโตเกียวก็วางแผนเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฮโดรเจนเป็น 6,000 คันบนท้องถนน รวมทั้งรถโดยสารประจำทางไฮโดรเจนเป็น 100 คัน ในปีเดียวกันก่อนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก

ความตั้งอกตั้งใจของญี่ปุ่น โดยบริษัทโตโยต้าในการคิดค้นและพัฒนารถยนต์พลังไฮโดรเจน ซึ่งมองว่าจะเป็นรถยนต์ในโลกอนาคต ไม่ได้เป็นแค่การเล่นขายของของเขาเท่านั้น แต่เป็นตัวอย่างของความเอาจริงเอาจังไปทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชนในการร่วมมือกันทำงาน แม้ว่าแผนงานนี้จะมีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าสำเร็จขึ้นมาต้องถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ สำหรับมนุษย์เราและโลกในอนาคต ที่จะไม่ต้องผจญกับมลพิษและยังมีพลังงานดี ๆ มาไว้ใช้

ไม่เหมือนประเทศสารขัณฑ์ ที่เอกชนไปทาง รัฐไปทาง เลยเอาดีไม่ได้สักทางเดียว