สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ออกโรง​หนุน ธปท. ตั้งกองทุน BSF พยุงหุ้นกู้เอกชน

แบงก์ชาติ ธปท. ค่าเงินบาท กนง.

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หนุน ธปท. ออก​ พ.ร.ก.ใช้เงิน  4​ แสนล้าน​บาท​ ตั้งกองทุน BSF​ พยุง​หุ้นกู้เอกชน หลังอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติเสียงแตก “บทบาทธนาคารกลาง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้ออกแถลงการณ์ “สนับสนุนการใช้กองทุน Corporate Bond Stabilization Fund (BSF)” ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการตั้งกองทุนดังกล่าวมูลค่า 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นกลไกในการเข้ามาดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ที่จะครบกำหนดจำนวนมาก ซึ่งจะต้องมีการตราสารหนี้รุ่นใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้รุ่นเดิม (Rollover)

โดยระบุว่า การแพร่กระจายของไวรัสโควคิด-19 ในระดับโลก ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ บางรายนำไปสู่การขาดกระแสเงินสดในระยะสั้น ประกอบกับนักลงทุนบางส่วนประสงค์ จะถือเงินสดในปริมาณที่มากกว่าปกติหลายเท่า อาจจะทำให้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงนี้ บางรุ่นประสบปัญหาการออกตราสารหนี้รุ่นใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้รุ่นเดิมได้ไม่เต็มจำนวน

ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นแหล่งระดมทุนและแหล่งเงินออมที่มีมูลค่าคงค้าง 3.7 ล้านล้านบาท มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากพันธบัตรรัฐบาล สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยสนับสนุนการที่ภาครัฐ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านกองทุน Corporate Bond Stabilization Fund (BSF) เข้ามาทำหน้าที่เสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้แก่ระบบ เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดทุนและระบบการเงินของประเทศในภาพรวม อันเป็นการป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลามกระทบต่อเงินออมของประเทศ ดังที่หลายประเทศดำเนินการ เพื่อพยุงให้ทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจรอดพ้นจากปัญหาการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 และกลับมาสามารถดำเนินการได้อย่างปกติเมื่อภาวะวิกฤติผ่านพ้นไป

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา มีอดีตผู้บริหาร ธปท. ทั้งระดับผู้ว่าการ และอื่น ๆ ออกมาแสดงท่าทีทั้งสนับสนุนและท้วงติงมาตรการดังกล่าว อาทิ นายวีรพงษ์ รามางกูร พร้อมด้วยอดีตผู้บริหาร ธปท. หลายราย ที่ออกมาร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ขอให้ ธปท. ยุติการดำเนินการ เรื่องการใช้วงเงิน 4 แสนล้านบาท รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยมองว่าขัดกับหลักการของธนาคารกลาง แต่หากจำเป็นต้องทำ เห็นว่าควรโอนไปให้ธนาคารของรัฐทำ เพราะหากมีคดีความจะเกิดปัญหา และไม่สอดคล้องกับหลักธนาคารกลางที่ต้องรักษาตัวให้เป็นผู้กู้ยืมรายสุดท้าย

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อสนับสนุนแนวทางของ ธปท. ในปัจจุบัน โดยนายประสาร ระบุว่า การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกของธนาคารกลาง ซึ่งเห็นว่า ธปท.รับฟังทุกฝ่าย และดำเนินมาตรการอย่างรอบคอบ ทั้งการจำกัดวงเงินและระยะเวลาในการใช้มาตรการ