สาธารณสุขชี้ “ภูเก็ต” ยังไม่ชัด “ปลอดภัย” หรือ “ระบาดซ้ำ”

สธ.ชี้ “ภูเก็ต” ยังไม่ชัด “ปลอดภัย” หรือ “ระบาดซ้ำ” จับตาต่อเนื่องถึงสัปดาห์หน้า แนะต้องระมัดระวัง ยกการ์ดสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จ.ภูเก็ต ได้ปิดเมืองมาระยะหนึ่ง และสามารถควบคุมโรคได้ในระดับดีขึ้น ภายหลังพบว่ามีช่วงรอยต่อของการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 1-2 พฤษภาคม ทำให้มีประชาชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เดินทางออกจากจังหวัดในลักษณะที่เรียกว่า “ฝูงผึ้งแตกรัง” และมีการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยตามระยะฟักตัวของโรคโควิด-19 คือ 14 วัน และ 2 เท่าของระยะฟักตัวคือ 28 วัน ดังนั้น จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วัน จึงเป็นจังหวัดที่ปลอดภัย เป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ และส่วนจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วัน ถือว่าเป็นกลุ่มจังหวัดความเสี่ยงสูง

“การเคลื่อนย้ายของคนจากพื้นที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พื้นที่ที่ยังมีผู้ติดเชื้อและไม่แสดงอาการ จึงเป็นช่องว่าง แต่สามารถค้นหาผู้ป่วยได้ เช่น รายที่พบใน จ.ปราจีนบุรี ที่มีประวัติเดินทางกลับมาจาก จ.ภูเก็ต หรือ รายที่พบใน จ.เชียงใหม่ ที่เดินทางกลับจาก จ.ภูเก็ต เช่นเดียวกัน ดังนั้น ระยะปลอดภัยของโรค จะต้องนับให้ถึง 28 วันที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วย แม้ในขณะนี้ จ.ภูเก็ต ไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่ม แต่ยังต้องทำการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (active case finding) ต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างวันที่ 14-28 วัน และยังเป็นช่วงที่ต้องดูต่อไปว่า ในสัปดาห์หน้าจะพบผู้ป่วยในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งหากพบผู้ป่วยและอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ก็ไม่มีปัญหา แต่หากเกิดพบเป็นกลุ้มก้อน หรือ การแพร่กระจายสูง จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง” นพ.อนุพงศ์ กล่าว

นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ในผู้ป่วยโควิด-19 จะมีระยะที่เริ่มแสดงอาการจากเบาไปรุนแรง จากประสบการณ์ของสถาบันบำราศนราดูร จำนวน 214 ราย พบว่า มีผู้ป่วย 4 ราย ที่เสียชีวิตเนื่องจากอาการปอดอักเสบ ดังนั้น ช่วงที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการแย่ลง จะเป็นช่วงระหว่างวันที่ 7-9 จากวันที่แสดงอาการ ซึ่งหากจะมีอาการทรุดตัว ก็จะแสดงให้เห็นชัดเจนมาก เช่น เหนื่อยหอบ ปอดอักเสบ ปอดถูกทำลาย จนถึงการใช้เครื่องช่วยหายใจในการรักษา ดังนั้น ผู้ที่ป่วยโควิด-19 ภายหลังจาก 7 วันที่เริ่มมีอาการแล้ว จะไม่สามารถอยู่ในบ้านต่อได้ จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แต่การเรียนรู้ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยหลายรายที่มาแสดงอาการในวันที่ 8-14 ของการรับเชื้อ

“ในช่วงเวลาที่ จ.ภูเก็ต มีความเสี่ยงสูง ทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ยกการ์ดสูงขึ้น ดังนั้นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ช่วยคัดกรอง ผู้เดินทางจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ในระยะ 14 วัน และหากมีการดูแลโดยไม่ละเลย จึงมีความอุ่นใจ แต่ทางสาธารณสุขและการแพทย์ 100% เป๊ะ ไม่มี อาจจะมีหลุดมาบ้างแต่อาจจะน้อยมากๆ ที่สามารถติดตามตัวได้” นพ.อนุพงศ์ กล่าว