สะพัด คปภ.เตรียมสั่ง “เดอะวันฯ” หยุดรับประกัน หลังผู้ถือหุ้นไม่เพิ่มทุน

ประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” โดมิโนเอฟเฟ็กต์ ล่าสุดพ่นพิษ “เดอะวันประกันภัย” ส่อถูก คปภ. เตรียมสั่งหยุดรับประกันชั่วคราว หลังผู้ถือหุ้นไม่ใส่เงินเพิ่มทุน 2,000 ล้านบาท พร้อมให้เร่งแก้ไขฐานะเงินกองทุนภายใน 30 วัน หากยังไม่ดำเนินการเจอสั่งเพิกถอนใบอนุญาต คปภ.เตรียมประชุมบอร์ด 1 ธ.ค.นี้ ฟาก “ไทยประกันภัย” ธุรกิจในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศยุติรับประกันภัยใหม่ตั้งแต่ต้นปีหน้า ระบุเพื่อลดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทในเครือ ด้าน “สินมั่นคงประกันภัย” กำลังพิจารณาขายหุ้นส่วนใหญ่มูลค่ากว่า 6.7 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทประกันที่ขายกรมธรรม์โควิด-19 ประเภท “เจอ จ่าย จบ” ยังคงได้รับผลกระทบหนัก จากยอดเคลมที่พุ่งต่อเนื่อง โดยหลังจากก่อนหน้านี้ บริษัทเอเชียประกันภัย ต้องปิดกิจการไปเป็นรายแรก และมีอีกหลายบริษัทที่กำลังเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกัน ล่าสุด บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งผู้เอาประกันภัยของบริษัทผ่านหน้าเว็บไซต์บริษัทอยู่ระหว่างปิดปรับปรุงชั่วคราว เพื่อดำเนินการเสริมสภาพคล่อง

โดยลูกค้าสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์บริษัท โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนมุัติการเพิ่มทุน 2,000 ล้านบาท ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ ทาง คปภ.ได้เชิญผู้บริหารเข้าหารือต่อจากนั้น

ผู้ถือหุ้นเดอะวันไม่เพิ่มทุน สะพัด คปภ.สั่งหยุดรับประกัน

แหล่งข่าวจากวงการประกันภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทเดอะวันประกันภัย เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564 เพื่อขออนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อจะนำเงินมาจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 แต่ที่สุดแล้วที่ประชุมมีมติยืนยันไม่อนุมัติการเพิ่มทุนดังกล่าว ซึ่งทาง คปภ.น่าจะมีการยกระดับมาตรการ โดยจะประกาศบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ภายใต้มาตรา 52 สั่งให้บริษัท เดอะวันประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

โดยตามกฎหมายมาตรา 52 จะมีระยะเวลาที่คณะกรรมการ คปภ.กำหนดไว้ เช่น ให้เร่งแก้ไขฐานะเงินกองทุนและให้เพิ่มทุน และหากยังไม่ดำเนินการใด ๆ จะบังคับใช้กฎหมายมาตรา 59 โดยอาศัยอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

คปภ.ย้ำคุ้มครองผู้เอาประกันเต็มที่

ขณะที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา คปภ.ได้ดำเนินการตามกฎหมายมาตรา 27/5 กับบริษัทเดอะวันประกันภัย คือ ให้ทำแผนแก้ไขเงินกองทุน เนื่องจากระดับเงินกองทุนของบริษัทต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยได้ส่งหนังสือแจ้งให้จัดทำโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับเอกสาร ซึ่งประกอบด้วย 1.ขั้นตอนการเพิ่มเงินกองทุนให้เพียงพอ 2.ระดับเงินกองทุนที่คาดว่าจะดำรงในแต่ละไตรมาสภายในระยะเวลาที่เข้าโครงการผ่อนคลายเงินกองทุน 3.ประเภทและธุรกิจที่จะประกอบการ และ 4.ระยะเวลาของโครงการต้องไม่เกิน 1 ปี

“เรามอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด และพิจารณาเรื่องสภาพคล่องของบริษัท ว่าเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันบริษัทเดอะวันฯ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการผ่อนผันตามมาตรการเสริมสภาพคล่องจ่ายเคลมประกันภัยโควิดให้กับประชาชน” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ส่งทีมงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สายกฎหมายและคดี สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์  สายตรวจสอบ และสายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย เข้าไปตรวจสอบและกำกับอย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน รวมถึงดูการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยแล้ว

นอกจากนี้ ยืนยันว่า สำนักงาน คปภ. จะยึดถือประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามหากบริษัทไปหยุดทำการเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน คปภ. ก็ถือว่ามีความผิด และมีบทลงโทษ รวมทั้งหากบริษัทดำเนินการใดๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

“ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าสำนักงาน คปภ. พร้อมดูแลประชาชาชน ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนประชาชนที่มีปัญหาเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท หรือการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า สามารถร้องเรียนกับสำนักงาน คปภ.ได้ ซึ่งได้มีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะไว้แล้ว โดยสำนักงาน คปภ. พร้อมดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า “จากการได้พูดคุยกับผู้บริหารเดอะวันประกันภัย ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเพิ่มทุนใดๆ และไม่มีรายงานทางการถึง คปภ.เลย ทั้งนี้ในวันที่ 1 ธ.ค.64 คปภ.จะมีการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด คปภ.) เพื่อรายงานสถานการณ์และความคืบหน้าต่อความกังวลของบริษัทเดอะวันประกันภัย เพราะได้มีการปิดที่ทำการ โดยคาดว่าคงได้ข้อสรุปจากบอร์ด” แหล่งข่าวกล่าว

วงในเผยบริษัทตัดสินใจหยุดกิจการ

ด้านแหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจประกันภัย กล่าวว่า เดอะวันประกันภัย น่าจะตัดสินใจหยุดดำเนินกิจการ เนื่องจากบริษัทได้ชี้แจง คปภ.ไปแล้ว ว่าจะไม่มีผู้ถือหุ้นใส่เงินเพิ่มทุน หากไม่ให้บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ ซึ่งเดิมผู้ถือหุ้นจะเพิ่มทุนเพื่อเคลียร์ยอดเคลมและแต่งตัวใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป แต่ในเมื่อ คปภ.ไม่ยกเลิกคำสั่ง ผู้ถือหุ้นจึงไม่กล้าเติมเงินเข้ามาเพราะเติมเงินไปแล้วเหมือนเสียเงินฟรี โดยเฉพาะหากเกิดระบาดโควิดระลอกใหม่ก็ต้องปิดบริษัทอยู่ดี

ทั้งนี้ เมื่อ คปภ.ไม่ยินยอมให้ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด การเติมเงินทุนไป ก็เหมือนกับเอาทรายไปถมทะเล ดังนั้นแต่ละบริษัทประกันวินาศภัยที่ขายประกันภัยโควิดในครั้งนี้ ถือว่าแสนสาหัส หากไม่สามารถหยุดจ่ายเคลมตามกรมธรรม์ได้ ซึ่งไม่น่าจะมีนายทุนรายใดคิดจะใส่เงินเพิ่มทุน เพราะระยะเวลาของผลตอบแทนจากการลงทุนอาจยาวนานเกิน 20 ปี

“ในมุมของการเป็นผู้ถือหุ้น เงินก้อนที่จะใส่เพิ่มทุนไป หากลงทุนในตลาดหุ้นจะได้เงินคืนมากกว่า 10-20% ในระยะเวลาเดียวกัน หรืออาจมากกว่าเท่าตัว ถ้าลงทุนในหุ้น Growth Stock หรือไปลงทุนในตลาดพันธบัตรจะได้เงินคืน 3-5% ในระยะเวลาเดียวกัน

หรือแม้แต่เงินฝากธนาคาร อย่างน้อย ๆ ก็พอมีดอกเบี้ยบ้าง แต่เงินต้นก็ไม่หายไป ในทางกลับกันถ้าลงทุนในบริษัทประกันวินาศภัยที่เงินกองทุนติดลบ ใครจะกล้าเสี่ยง เพราะยังต้องมาเสี่ยงกับการบริหารงานที่ยังผันผวนในความเสี่ยงภัยต่าง ๆ อีก” แหล่งข่าว กล่าว

ผวาโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน”

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ความจริงแล้วไวรัสโควิดเป็นความความเสี่ยงอุบัติใหม่ ที่ไม่มีสถิติและข้อมูลมาประกอบการทำราคาเบี้ย เป็น Dynamic Risk ที่ยังไม่นิ่งเพราะมีการกลายพันธุ์ ล่าสุด ก็มีโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเกิดขึ้นอีก

“ตามหลักการแล้วไม่ควรเข้าไปรับเสี่ยง แต่ถ้าจะเข้าไปรับจริงๆ ก็น่าจะมีวงเงินและระยะเวลาในการรับ และมีการเอาประกันภัยต่อที่เหมาะสมกับเงินกองทุนของแต่ละบริษัท

ทั้งนี้ อัตราเบี้ยที่ใช้กัน 499 บาท ต่อวงเงินคุ้มครอง 100,000 บาท แบบเจอจ่ายจบ เท่ากับ 0.499% แต่อัตราการติดเชื้อเวลานี้เกิน 4% ไปแล้ว ดังนั้นเบี้ยขั้นต่ำต้อง 4,000 บาท ต่อวงเงินคุ้มครอง 100,000 บาท ตอนนี้ จึงจูงใจให้เกิด Moral Hazard กับคนที่มีปัญหาด้านการเงินในขณะนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้ถือหุ้น TQM เอี่ยวเดอะวันฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาทางบริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อบริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด ) ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยได้มีการเปิดตัวกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ คือ ตระกูลศรีอรทัยกุลและกลุ่มบริษัทบิวตี้เจมส์ ถือหุ้นรวมกันอยู่ที่ 98.2071% ไป อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด พบว่า เดอะวันฯ ได้มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นอีกครั้ง

โดยผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ขณะนี้ คือ นางสาวสุลลิดา ถานบุรี สัดส่วน 45.7823% อันดับ 2 คือ บริษัท โตโยต้าดีไซน์ จำกัด สัดส่วน 18.8703% อันดับ 3 คือ บริษัท พรีเมียมพลัส 2021 จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 18.3129% อันดับ 4 คือบริษัท ไมโคร เซ็ตติ้ง จำกัด ถือหุ้น 12.6948% และอันดับ 5 นายสุริยน ศรีอรทัยกุล ถือหุ้นสัดส่วน 2.6730%

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระบุว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM ได้ใช้เงินส่วนตัวใส่เงินทุนให้กับเดอะวันฯ จนปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 และ อันดับ 3 ของเดอะวันฯ มีความเกี่ยวโยงกัน โดยบริษัท พรีเมียมพลัส 2021 จำกัด ผู้ถือหุ้นใหม่ของเดอะวันฯ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท อีเทอนอล โกรท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TQM เช่นกัน

ไทยประกันภัย ยุติรับประกันต้นปีหน้า

ขณะที่นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH เปิดเผยว่า บริษัทจะดำเนินการให้ไทยประกันภัยยุติการรับประกันภัยใหม่ภายในไตรมาสแรกปี 2565 เพื่อลดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทในเครือ โดยจะยังคงมีการดำเนินงานเฉพาะในส่วนการดูแลผู้ถือกรมธรรม์ของไทยประกันภัยที่ยังมีผลใช้บังคับไปจนกว่าอายุของกรมธรรม์จะหมดลง

ก่อนหน้านี้ TGH ได้ทำรายการขายหุ้นบริษัทไทยประกันภัย จำนวน 7,100 ล้านบาท ให้กับบริษัท วัฒนทรัพย์พัฒนา 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันกับบริษัท ผลมั่นคงธุรกิจ จำกัด ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TGH

แหล่งข่าว กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มอาคเนย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน 3 บริษัทคือ 1.อาคเนย์ประกันภัย 2.ไทยประกันภัย และ 3.อินทรประกันภัย โดยภายในของแต่ละบริษัทลูกอาจมีผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เป็นผู้ถือหุ้นนอกกลุ่มอยู่ด้วย

ขณะที่การโอนงานกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุไปอยู่กับอาคเนย์ทั้งหมด แต่คงเหลืองานประกันโควิดอยู่ รวมถึงการส่งประกันภัยต่องานประกันภัยโควิดของอาคเนย์ไปยังไทยประกันภัยยังเป็นเรื่องที่น่าชวนคิด

เคลมโควิดทะลัก 4 หมื่นล้าน

ก่อนหน้านี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย รายงานว่า จากข้อมูลสถิติค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัยโควิด-19 จนถึงวันที่ 15 พ.ย.2564 แสดงให้เห็นว่าทั้งระบบมีเคลมสูงกว่า 37,000 ล้านบาท จากเบี้ยรับ 10,562 ล้านบาท คิดเป็น 26.5% ของเงินกองทุนมูลค่ารวม 132,294 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนสะสมจนถึงสิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30.2% ของเงินกองทุน

เปิดยอดเคลม 16 บริษัทประกันโควิด

นอกจากนี้มีรายงาน ระบุว่า ตัวเลขยอดเคลมตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ทั้งหมด 16 บริษัท ประกอบด้วย 1.อาคเนย์ประกันภัย ยอดเคลมมูลค่า 7,500 ล้านบาท 2.สินมั่นคงประกันภัย ยอดเคลม 6,800 ล้านบาท 3.วิริยะประกันภัย ยอดเคลม 5,700 ล้านบาท 4.เดอะวันประกันภัย ยอดเคลม 4,000 ล้านบาท 5.กรุงเทพประกันภัย ยอดเคลม 3,500 ล้านบาท

6.ไทยประกันภัย ยอดเคลม 1,900 ล้านบาท 7.เมืองไทยประกันภัย ยอดเคลม 1,200 ล้านบาท 8.เทเวศประกันภัย ยอดเคลม 500 ล้านบาท

ส่วนที่เหลืออีก 6 ราย จะมียอดเคลมประกันภัยโควิดหลักร้อยล้านบาท ประกอบด้วย ทูนประกันภัย, ฟอลคอนประกันภัย, เคเอสเคประกันภัย, เจมาร์ทประกันภัย, คิงไวประกันภัย และนวกิจประกันภัย ขณะที่เอเชียประกันภัย มียอดเคลมมูลค่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่กองทุนประกันวินาศภัยต้องจ่ายในฐานะผู้ชำระบัญชี หลังถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ผู้ถือหุ้น “สินมั่นคงฯ” พิจารณาขายหุ้นใหญ่

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการขายหุ้นใหญ่ของครอบครัวดุษฎีสุรพจน์ โดยได้คัดเลือกบริษัทผู้ซื้อหลายรายให้เข้าร่วมการประมูลรอบใหม่

รวมไปถึง 2 กลุ่มบริษัทประกันภัยระดับโลกอย่าง 1.กลุ่มเจนเนอราลี (Assicurazioni Generali SpA) ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยชั้นนำระดับโลกจากอิตาลี และ 2.บริษัทลิเบอร์ตี้ มิวชวล อินชัวรันซ์ กรุ๊ป (Liberty Mutual Group)

โดยบริษัทสินมั่นคงประกันภัย กำลังทำงานร่วมกับที่ปรึกษาการเงินเกี่ยวกับข้อตกลงขายหุ้นดังกล่าว ซึ่งอาจมีมูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,700 ล้านบาท คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 33.6 บาท) และการขายหุ้นในครั้งนี้อาจรวมถึงการลงทุนครั้งใหม่ด้วยมูลค่าอีกประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ (3,360 ล้านบาท)

ทั้งนี้รายงานผลประกอบการของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย มีกำไรสุทธิในปี 2563 ที่ระดับ 757.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 12% จากปี 2562 แต่ในงวดไตรมาส 3/64 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 3.7 พันล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 160.2 ล้านบาทในไตรมาส 3/2563 ซึ่งบริษัทระบุว่ามีสาเหตุมาจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก