คลังชี้ ครม.ไฟเขียว 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อ ฉีดเงินเข้าระบบเฉียด 5 หมื่นล้าน

คนละครึ่ง ร้านค้า

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผย ครมอนุมัติ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อ 42 ล้านคน ประเมินอัดเม็ดเงินเข้าระบบ 48,628 ล้านบาท เพิ่มจีดีพีโต 0.13%

วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 รับทราบและอนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คณะกรรมการ) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 20/2565 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565
ซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นชอบโครงการ ดังต่อไปนี้

(1) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 (โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตร ระยะที่ 5)

(2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 (โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ระยะที่ 3)

(3) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามที่กระทรวงการคลังโดย สศค. เสนอ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แก่กลุ่มที่มีความเปราะบางทางด้านรายได้ ทรัพย์สิน และหนี้สิน และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ)

ครม 26 ก.ค. 2565 ค่าครองชีพ
3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อประชาชน ที่ ครม.อนุมัติ เมื่อ 26 ก.ค. 2565

ย้ำ ประชาชนใช้สิทธิคนละ 1 โครงการเท่านั้น

ตลอดจนเพื่อรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 ผ่านการเพิ่มอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

โดยประชาชนสามารถเลือกเข้าร่วมโครงการได้เพียง 1 โครงการ ดังมีรายละเอียด ดังนี้

1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตร ระยะที่ 5 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้า) และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2565

(กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตร) จำนวนไม่เกิน 13.34 ล้านคน

ทั้งนี้ หากผู้มีบัตรประสงค์จะรับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องสละสิทธิการเป็นผู้มีบัตร โดยขอให้นำบัตรมาคืนที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 16.30 น. (ปิดตามเวลาราชการ)

โดยการคืนบัตรดังกล่าว ผู้มีบัตรจะไม่สามารถกลับมาขอรับบัตรภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 และ 2561 ได้อีก

นอกจากนี้ การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการลงทะเบียนและสิทธิคงเหลือภายใต้โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ระยะที่ 3 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ

ให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนหรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ได้) รวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองไม่สำเร็จ เนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง เป็นต้น

ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ กลุ่ม 4 จำนวน ไม่เกิน 2.23 ล้านคน

ทั้งนี้ หากผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือประสงค์จะรับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 และถือเป็นการสละสิทธิตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ระยะที่ 3 และจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก

3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 สนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป บริการนวดสปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ

ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ บัตรกำนัล บัตรเงินสด และบริการรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการล่วงหน้า และสินค้าหรือบริการที่กระทรวงการคลังกำหนด จากภาครัฐในอัตราร้อยละ 50

ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 800 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2565 ให้กับประชาชนผู้ได้รับสิทธิที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่เกิน 26.5 ล้านคน

“การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ ครอบคลุมประชาชนจำนวน 42 ล้านคน โดยจะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 48,628 ล้านบาท”

“ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีไม่มีการดำเนินโครงการทั้ง 3 โครงการ”

“อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565” นายพรชัยกล่าว