คิดแบบญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

กล่าวกันว่า ความสำเร็จในกระบวนการคิดสินค้าของประเทศญี่ปุ่น มีหน่วยงานหนึ่งอยู่เบื้องหลัง คือ “Asian Productivity Organization-APO” ที่ไม่เพียงจะสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพทุกด้านของประเทศสมาชิก หาก APO ยังถือเป็นหน่วยงานหลักที่ทำงานคู่ขนานไปกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาประเทศในทุกมิติ

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เวลาใครไปญี่ปุ่น จึงมักสงสัยว่าทำไมสินค้าของประเทศเขาถึงออกแบบสวย แพ็กเกจจิ้งดี แถมราคายังค่อนข้างสูง

คำตอบง่าย ๆ คือ เขาช่างคิด

และไม่ได้คิดคนเดียวด้วย

แต่คิดกันเป็นกระบวนการ

Advertisment

โดยมีชุมชนของตัวเองเป็นผู้สร้างต้นทาง พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม และหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้าโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

หลายปีผ่านมา ผมมีโอกาสไปเรียนหนังสือ และไปดูงานของชุมชนต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ยอมรับจากห้องเรียนเลยครับว่าเวลาเขาทำอะไรนั้น…ทำจริง

ยกตัวอย่าง ชุมชน A คิดจะปลูกแอปเปิล พวกเขาจะช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์แอปเปิลร่วมกัน เพื่อค้นหาสายพันธุ์ดีที่สุด ต่อจากนั้นพอถึงเวลาปลูก พวกเขาจะช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมในการปลูกเพื่อหาเครื่องมือมาช่วยเกษตรกรให้ทำงานน้อยลง

รวมถึงการเก็บผลผลิตด้วย

Advertisment

เมื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ส่วนหนึ่งจะขายให้กับ “หน่วยงานกลาง” ของชุมชนในราคาถูก เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าจากต่างเมืองมาซื้อไปขายในราคาที่สูงขึ้น

รายได้ส่วนหนึ่งจากตรงนี้ นอกจากเกษตรกรจะได้ผลตอบแทน เขายังนำส่วนต่างจากกำไรที่ได้มาเป็นเงินกองกลางให้กับหน่วยงานกลางของชุมชน เพื่อให้หน่วยงานกลางนำเงินที่งอกเงยเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

แหล่งช็อปปิ้ง

ขณะที่แอปเปิลอีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ

ตรงนี้ไม่เพียงเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น หากผลผลิตอีกส่วนยังถูกนำมาแปรรูปไปเป็นไอศกรีมแอปเปิล, ชาแอปเปิล, น้ำแอปเปิล, ไวน์แอปเปิล และอื่น ๆ อีกมากมาย

ที่ล้วนต่างสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรทั้งสิ้น

นอกจากนั้น แอปเปิลยังถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของเมือง จนใคร ๆ ต่างเรียกเมืองแอปเปิล ที่ไม่เพียงหน่วยงานกลางจะออกแบบดีไซน์สถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องที่ยวทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศมาเที่ยวแล้ว

ภายในหน่วยงานกลางยังเป็นที่ขายของที่ระลึกทุกอย่างด้วย

ไม่ว่าจะเป็น พวงกุญแจ, ผ้าพันคอ, ผ้าเช็ดหน้า, เข็มกลัด และอื่น ๆ อีกมากมาย

จนทำให้นักท่องเที่ยวคนไหนที่หลงรักแอปเปิลเป็นต้องถูกละลายทรัพย์แน่ เพราะทุกผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบดีไซน์ และมีแพ็กเกจจิ้งสวยงาม ตามแบบฉบับคนช่างคิด

ที่สำคัญ รายได้ต่าง ๆ เหล่านั้นยังสะวิงกลับไปหาชุมชน เพื่อให้เกิดการค้นคว้า พัฒนานวัตกรรมต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนด้วย

ผมถึงบอกไงว่า…คนญี่ปุ่นช่างคิด

ไม่ได้คิดคนเดียวด้วย

แต่คิดกันเป็นกระบวนการ

ทั้งยังไม่งอมืองอเท้า รอให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุน

เพราะพวกเขาสามารถเลี้ยงดูชุมชนของตัวเองอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน

อยากรู้ไหมครับว่า…ผมกำลังพูดถึงชุมชนของเมืองอะไร ?

เมืองฮิโรซากิครับ

ส่วนหน่วยงานกลางนั้นมีชื่อว่า…ฮิโรซากิ แอปเปิล พาร์ค

ซึ่งผมเห็นแล้ว อยากให้บ้านเราทำได้แบบนี้บ้างจังเลย ?