depa สานต่อความร่วมมือ MIC ประเทศญี่ปุ่น

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สานต่อความร่วมมือกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยผศ.ดร.ณัฐพล นิมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) พร้อมด้วย ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และคณะได้เข้าพบ นายทาวาระ ยาสุโอ Director-General Global Strategy Bureau, Ministry of Internal Affairs and Communications (MIC) (กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น)

เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ตอัพไทยในทุกระยะการเติบโต พร้อมแนะนำโครงการ Thailand Digital Valley รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่นักลงทุน โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นจะได้รับ

นอกจากนี้ยังได้ชักชวน MIC และนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมลงทุนในดิจิทัลสตาร์ตอัพ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมถึงความร่วมมือในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต ซึ่ง depa ได้เตรียมแผนจัดเป็นอีเวนต์ใหญ่ในประเทศไทยในปีหน้าด้วย

 

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่าอีกบทบาทของดีป้าคือ การพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่มีทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยี AI, Blockchain รวมถึงการพัฒนา Data Science และ Data Engineer ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (National Big Data Institute: NBDi) เพื่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูล

ด้านนายทาวาระ ยาสุโอ กล่าวว่า MIC และดีป้ามีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดโครงการ INNO-vation บ้า-กล้า-คิด ที่จัดต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดย MIC มีความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมสตาร์ทอัพโดยเฉพาะด้าน ICT มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม

“MIC มีการส่งเสริมบริษัทญี่ปุ่นมุ่งสู่ตลาดโลกเช่นกัน และหวังว่าจะได้ร่วมงานกับดีป้าอีกในอนาคต ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ”

รายงานข่าวระบุว่าเมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา depa และ MIC ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรักษาและพัฒนาระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย ภายใต้กรอบความร่วมมือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

เช่น มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และชุมชน การร่วมดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้