คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ก้อย ประชาชาติ
ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทันทีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ เตรียมประกาศหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนของธนาคารหรือแบงกิ้งเอเย่นต์ (banking agent) เปิดทางให้ธนาคารว่าจ้างตัวแทนให้บริการได้หลากหลายขึ้น รวมถึงร้านสะดวกซื้อด้วยนั้น ชื่อของร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย “เซเว่นอีเลฟเว่น” ก็เด้งโดดขึ้นมา
ทั้งกระแสในภาพบวกถึงความสะดวกสบายต่อลูกค้า และภาพไม่ค่อยบวกในแนวที่ว่าอาจทำให้เกิดการกินรวบตลาด ด้วยจำนวนสาขาที่ครอบคลุมกว่า 10,000 แห่งเต็มทุกพื้นที่ กลายเป็นกระแสอื้ออึงทั้งตลาด ตลอดช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในโลก “โซเชียล” ที่ไปค่อนข้างไว และไปค่อนข้างไกล
เพราะต้องยอมรับว่าทั้งจำนวนทราฟฟิกในแต่ละวัน จำนวนการจับจ่ายต่อบิลของร้านสะดวกซื้อ 7-11 มีการเติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีมากหรือดีน้อย
เห็นได้จากตัวเลขรายได้ในปี 2560 รายได้ 7-11 ต่อสาขาเฉลี่ย 78,706 บาทต่อวัน สอดคล้องกับรายได้ต่อบิลต่อครั้งที่เข้ามาจับจ่ายตกประมาณ 65 บาท และเมื่อหารจำนวนทราฟฟิกต่อสาขาแล้วนั้น เฉลี่ยแล้วร้าน 7-11 จะมีคนเข้าประมาณ 1,216 คนต่อวัน
และก่อนที่กระแสจะไปไกลกว่านี้ แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงทันควันว่า ไม่ได้อนุญาตให้เอกชนมาขอใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใหม่ และไม่ได้มีการให้ใบอนุญาตแต่งตั้ง 7-11 เป็นธนาคารพาณิชย์ในไทย
แต่อย่างไรก็ตาม “แบงก์ชาติ” ได้ออกประกาศอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนการให้บริการทางการเงิน (แบงกิ้งเอเย่นต์) ได้ ตั้งแต่ปี 2553 แล้ว
โดยปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งก็ได้ตั้งบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งบริษัทลูกในเครือซีพี ออลล์ เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ด้านการรับชำระเงิน รวมถึงค่ายตู้เติมบุญ, ตู้เติมสบาย และแอปพลิเคชั่นแอร์เพย์ เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เช่นเดียวกัน
ซึ่งในทางหลักการ “กระทรวงการคลัง” เสนอแนวคิดนี้ เพราะเชื่อว่าประชาชนจะได้รับความสะดวกและเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น และเชื่อว่าเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. มีการออกนโยบายแล้วจะมีการกำหนดคุณสมบัติที่มีความรัดกุม มีข้อจำกัด มีเงื่อนไขที่รอบคอบ
“สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง ขยายความว่า แบงกิ้งเอเย่นต์จะช่วยลดปัญหาการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แพง หากแบงกิ้งเอเย่นต์ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารต่าง ๆ เพื่อมาแข่งขันกัน ประชาชนจะมีทางเลือกมากขึ้น
ทั้งนี้ ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์จะมีข้อจำกัดว่าสามารถให้บริการรับฝาก ถอน โอน ชำระเงิน สำหรับลูกค้ารายย่อยไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อวันสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย
แม้กระทั่ง “ตำรวจ” ยังไม่อาจเลี่ยงปรากฏการณ์ความแรงของกระแส “แบงกิ้งเอเย่นต์” ได้ ด้วยการเตรียมความพร้อมเรียกตัวแทนเจ้าหน้าที่ธนาคารร่วมประชุมรับมือด้านความปลอดภัย
พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล พร้อมด้วย นายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. เผยถึงมาตรการป้องกันกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศหลักเกณฑ์ให้ร้านสะดวกซื้อและโชห่วยเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์
เพื่อดูแลความปลอดภัยทางการเงิน และป้องปรามกลุ่มมิจฉาชีพอาจอาศัยช่องว่างและโอกาสไปใช้ในการกระทำความผิด หากมีข้อสรุปมาตรการแบงกิ้งเอเย่นต์ที่แน่ชัดออกมา
คาดว่าจะดีเดย์ “แบงกิ้งเอเย่นต์” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือนมีนาคมนี้