บทบรรณาธิการ : ความโกลาหลของซีเซียม-137

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

การหายไปของวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หรือ Cesium-137, Cs-137 ที่บรรจุอยู่ในท่อกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในพื้นที่ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ได้สร้างความตื่นตระหนกและกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่

ทางโรงไฟฟ้าได้พบว่า ท่อเหล็กที่บรรจุ Cs-137 นั้น หายไปตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 และได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม หรือใช้เวลาถึง 15 วันในการติดตามหาท่อดังกล่าว

ท่อเหล็กกลมบรรจุ Cs-137 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า ถูกติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2534 จำนวน 10 เครื่อง พบว่าได้ “หายไป” 1 เครื่อง การแก้ปัญหาเบื้องต้นมีการประกาศให้รางวัลแก่ผู้พบเห็นและสามารถนำกลับมาได้จำนวน 50,000 บาท

ทว่าเมื่อเวลาผ่านมาถึง 15 วันก็ยังไม่มีใครพบท่อกลมเหล็กดังกล่าว มีแต่คำสันนิษฐานออกมาว่า ท่อกลมเหล็กอาจจะถูกขายหรือเก็บได้จากซาเล้ง จนนำไปสู่การ “ปูพรม” ของเจ้าหน้าที่ตรวจค้นร้านค้าของเก่า ในจังหวัดปราจีนบุรีมากกว่า 40 แห่ง จนทำให้สถานการณ์บานปลาย มีการรายงานข่าวทั้งถูกและผิดหรือเกินเลยไปจากข้อเท็จจริงกระจายออกไปทั่วประเทศ

จนเรื่องมากระจ่างเอาที่การตรวจสอบโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่งในพื้นที่ พบการตกค้างของ Cs-137 ในฝุ่นแดงหรือฝุ่นเหล็กที่ได้จากกระบวนการหลอม โดยทางโรงหลอมเองได้แจ้งว่า ฝุ่นแดงจำนวนนี้ได้มาจากการหลอมเหล็กตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมานั้น

หมายความว่า ท่อกลมเหล็กบรรจุ Cs-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าได้ถูกหลอมไปแล้ว และข่าวได้ถูกกระพือออกไปในทำนองที่ว่า Cs-137 อาจจะกระจายออกไปนอกโรงหลอมหรือติดค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดการตื่นกลัวของประชาชนโดยรอบพื้นที่

เมื่อหันกลับมาพิจารณาการดำเนินการของรัฐบาลในการควบคุมดูแลวัตถุอันตรายที่สามารถแพร่กัมมันตรังสีร้ายแรงออกมา ซึ่งผู้ได้รับหรือสัมผัสเป็นเวลานานในปริมาณมากอาจนำไปสู่การเป็น “มะเร็ง” นั้น กลับเต็มไปด้วยความสับสน พบการลงพื้นที่ของสารพัดหน่วยงาน ทั้งที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง

โดยการตั้งรับอย่างเป็นรูปธรรมของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินส่วนหน้า มาบังเกิดเอาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม หรือห่างจากวันที่พบท่อกลมเหล็กหายไปเกือบ 1 เดือน โดยการตรวจสอบไม่พบ Cs-137 กระจายออกไปภายนอกโรงหลอมเหล็ก และปริมาณที่พบตกค้างก็น้อยมาก

ดังนั้นกรณี Cs-137 จึงสมควรที่จะเป็นบทเรียนของภาครัฐที่จะต้องยกระดับการควบคุม-ตรวจสอบ-ติดตามสารกัมมันตรังสีอันตราย ใครมีหน้าที่ปฏิบัติอย่างไร โดยไม่ก่อให้เกิดความโกลาหลอลหม่าน เพราะหากเกิดการรั่วไหลสูญหายของวัตถุหรือชิ้นส่วนบรรจุสารอันตรายครั้งต่อไปอาจจะไม่โชคดีเหมือนครั้งนี้อีก