แพลตฟอร์ม ข้อมูล เชื้อเพลิงแห่งการพัฒนาประเทศ (2)

แพลตฟอร์ม ข้อมูล
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ, พิมพิสุทธิ์ ศรีพวาทกุล
ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร SCB

บทความ “ข้อมูล” เชื้อเพลิงแห่งการพัฒนาประเทศ ที่เผยแพร่ในคอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2565 ได้ถกถึงการใช้ข้อมูลเป็น “เชื้อเพลิง” เติมพลังขับเคลื่อนการทำงานให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในบริบทของการใช้งานข้อมูลจากโครงสร้างทะเบียนแรงงานไทย

วันนี้จะขอต่อยอดในบทความตอนที่ 2 เพื่อประยุกต์ใช้หลักคิดนี้กับข้อมูลการโอน/ชำระเงินรายธุรกรรม ซึ่งหนึ่งในผู้เขียนได้ทำการศึกษาร่วมกับโครงการวิจัยเรื่อง เศรษฐกิจดิจิทัลและงานในอนาคต : การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคการเงิน นำทีมโดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ สถาบันเอเชียศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ทุนการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ก่อนอื่น ขอทบทวนถึงบทความตอนก่อนที่ประยุกต์แนวทางการใช้งานข้อมูลภายใต้กรอบแนวคิด Data Product Approach ในนิตยสาร Harvard Business Review ฉบับเดือน ก.ค.-ส.ค. 65 เรื่อง “A Better Way to Put Your Data to Work” เพื่อศึกษาการใช้งานโครงสร้างทะเบียนแรงงานไทย โดยใช้ประโยชน์ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง และยึดเอาการบริโภคข้อมูล หรือการใช้งานเป็นหลักยึด

ซึ่งแตกต่างจากวิธีการในอดีต คือ แบบ “ฐานราก” ที่กระจายให้แต่ละหน่วยย่อยพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลเอง และแบบ “บิ๊กแบง” ที่จัดตั้งศูนย์รวมบริหารการใช้งานข้อมูลและใช้เวลาในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ออกแบบสถาปัตยกรรมข้อมูล รวบรวม ประมวล และเผยแพร่ข้อมูล แต่จะมองข้อมูลเป็นผลิตภัณฑ์ หรือ product ที่ผู้มีส่วนร่วมสามารถใช้ประโยชน์ภายใต้สิทธิตามบทบาทหน้าที่

วิธีการใหม่นี้ใช้ข้อดีจากแบบรวมศูนย์ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบการบันทึกในการนำเข้าข้อมูล และแพลตฟอร์มข้อมูลในการจัดเก็บและประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับการทำงานโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งานข้อมูลไม่แยกส่วนออกจากกัน

การศึกษาดังกล่าวเสนอให้จัดทำระบบการบันทึกและแพลตฟอร์มข้อมูล โดยใช้งานห้องทดลองปฏิบัติการด้านข้อมูลด้านแรงงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้งานผลิตภัณฑ์ข้อมูล ทั้งด้านแรงงานและความต้องการแรงงาน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูล

ทั้งผ่าน application การจับคู่งานและทักษะ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในเชิงลึกและจัดทำรายงานการถอดแบบแนวทาง Data Product Approach เพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลการโอน/ชำระเงินรายธุรกรรม สามารถดำเนินการได้ในมิติต่าง ๆ ดังนี้

ข้อมูลที่นำเข้า ประกอบด้วย รายได้ เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ สวัสดิการภาครัฐ เงินโอน ค่าสินค้าและบริการ และค่าสาธารณูปโภค

ระบบการบันทึก แบ่งเป็นระบบการประมวลผลข้อมูล เนื้อข้อมูลจากแต่ละธนาคาร และข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง จากร่องรอยการใช้บริการทางการเงินดิจิทัล

แพลตฟอร์มข้อมูล จำแนกได้เป็น คลังข้อมูล แหล่งเก็บข้อมูลดิบ ส่วนที่จัดเก็บข้อมูลปฏิบัติการ

ผลิตภัณฑ์ข้อมูล คือ รายได้ การบริโภค การออม สวัสดิการ ความผิดปกติ

รูปแบบการใช้ประโยชน์ ได้แก่ ผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยตรง การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รายงานผลการศึกษา การแลกเปลี่ยนข้อมูล Sandbox ทดลองสร้างนวัตกรรม

กรณีศึกษา อาทิ การส่งเสริมการออมและการลงทุน หลักฐานเชิงประจักษ์ตอบโจทย์ภาครัฐในการสนับสนุนการชำระเงินดิจิทัล Dashboard พฤติกรรมการโอนเงิน Dashboard ความเพียงพอของสวัสดิการเพื่อกำหนดเป้าหมาย/แนวทางช่วยเหลือ API เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

กลไกสำคัญสำหรับบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ข้อมูล แนวทาง Data Product Approach เพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลการโอน/ชำระเงินรายธุรกรรมในการทำงานร่วมกัน คือ การบริหารจัดการข้อมูลด้วยอัลกอริทึมปกปิดตัวตนที่เชื่อมโยงระหว่างชุดข้อมูลได้ ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็นสองรูปแบบคร่าว ๆ คือ

การจัดเก็บข้อมูลกระจายกันไว้ที่ต้นทาง แต่ใช้การ Masking ข้อมูลที่ระบุตัวตน เช่น เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล ก่อนปกปิดและเชื่อมโยงไว้สำหรับประมวลผลร่วมกันที่ระบบกลางโดยใช้วิธี Robotic Process Automation หรือ RPA และไม่จำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ส่วนกลางหลังประมวลผลเสร็จ เพราะสามารถใช้ระบบ RPA ทำซ้ำได้ทุกครั้งที่ต้องการ

ทำให้ไม่ประสบปัญหาข้อจำกัดด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคล และสามารถใช้ทดสอบการทำงานด้านข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ก่อนที่จะมีการทำความตกลงอย่างถาวร

และการจัดเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์ โดยใช้การ Masking ข้อมูลที่ระบุตัวตนเลขประจำตัวประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล ก่อนปกปิดและเชื่อมโยงไว้ที่ศูนย์กลาง ซึ่งมีข้อดีที่สามารถใช้งานได้สะดวก และต่อยอดการพัฒนาข้อมูลได้

แต่ต้องอาศัยความไว้วางใจในการบริหารผลดีและความเสี่ยงในการใช้งานข้อมูลร่วมกัน ตลอดจนหากดำเนินการไปแล้วพบอุปสรรคจากความร่วมมือ อาจขาดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจนกระทั่งอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างองค์กรได้

การจะทำให้ข้อมูลเป็น “เชื้อเพลิง” ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างสัมฤทธิผล ไม่ได้มีข้อติดขัดด้านเทคนิค เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมด้านเครื่องมือและบุคลากรในปัจจุบัน แต่ยังขาดตัวช่วยสำคัญที่จะผสมผสานการทำงานร่วมกันให้ไม่เพียงแต่จะรับผลบวกและความเสี่ยงร่วมกันทั้งภายในและระหว่างองค์กร แต่จะต้องยึดเอาประโยชน์สูงสุดของประเทศภายใต้ธรรมาภิบาลด้านข้อมูลที่รัดกุมเป็นที่ตั้ง