ความเอิกเกริกของหมูเถื่อน

หมูเถื่อน
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างมากภายหลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู หรือโรค ASF ในประเทศไทยได้สิ้นสุดลง แต่ราคาหมูเนื้อแดงในประเทศกลับตกต่ำลง สวนทางกับข้อเท็จจริงที่ว่า โรค ASF ได้ตัดวงจรการเลี้ยงหมูภายในประเทศลดลงและเกษตรกรไม่กล้าเสี่ยงที่จะลงเลี้ยงหมูรอบใหม่

ขณะเดียวกันก็บังเกิด “หมูกล่อง” ที่มีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศแถบละตินอเมริกา ผ่านทางด่านแนวชายแดน และลุกลามไปถึงการนำเข้าผ่านท่าเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าเรือแหลมฉบัง

แรกเริ่มของการนำเข้าหมูกล่อง หรือหมูเถื่อน ในช่วงแรก ๆ ก็เพื่อนำมา “ทดแทน” ปริมาณเนื้อหมูที่หายไปจากการระบาดของโรค ASF แต่ทว่าการลักลอบนำเข้าหมูกล่องไม่ได้สิ้นสุดลงหลังจากที่มีการฟื้นฟูการเลี้ยงหมูรอบใหม่ แต่นับวันจะมีการลักลอบนำเข้ามามากขึ้น

จนหมูกล่องสามารถตีตลาดหมูเนื้อแดงภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์ โดยผู้อยู่ในวงการเลี้ยงหมูประมาณการว่าน่าจะมีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากการสำแดงเท็จไม่ต่ำกว่า 20,000 ตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาในประเทศ

ผลของหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาตีตลาดในประเทศได้ทำลายระบบการตั้งราคาหมูจากราคาหมูเป็น ณ หน้าฟาร์ม ผ่านโรงเชือด เขียง มาสู่ราคาจำหน่ายปลีกเป็นหมูชำแหละในท้องตลาด โดยมีราคาจำหน่ายเฉลี่ยประมาณ 100 บาทต้น ๆ /กก. ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงหมูของเกษตรกรเฉลี่ยอยู่ประมาณ 90 บาท/กก. แต่ราคาประกาศขายหมูเป็นอยู่ระหว่าง 62-70 บาท/กก.เท่านั้น

Advertisment

ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไม่มีทางเลือกที่จะต้องรวมตัวเข้าร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยปราบปรามการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนหรือหมูกล่องโดยการร้องเรียนมุ่งเป้าไปที่การลักลอบนำเข้าหมูกล่องบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นช่องทางการนำเข้าหมูเถื่อนที่ใหญ่ที่สุด

แต่เรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมากก็คือ ผู้คนในวงการผู้เลี้ยงหมูกลับเป็นผู้ชี้ช่องให้มีการตรวจจับการลักลอบนำเข้าหมูกล่องแทนที่จะเป็นการตรวจพบความผิดปกติของการลักลอบนำเข้าจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ หมูเถื่อนจำนวน 161 ตู้ที่ท่าเรือแหลมฉบังจน DSI ต้องรับไว้เป็นคดีพิเศษ

ล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ออกมาร้องเรียนกับ DSI เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ว่ายังมีตู้คอนเทนเนอร์ต้องสงสัยว่าจะบรรจุหมูเถื่อนอีกไม่น้อยกว่า 1,000 ตู้ตกค้างอยู่อีกที่ท่าเรือแหลมฉบัง จนกลายเป็นข้อสงสัยที่ว่า

ทำไมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถึงไม่ออกมาดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ แต่ต้องรอให้มีคนร้องขึ้นมาเสียก่อน และยังไม่รู้ว่า จะต้องใช้เวลาในการเปิดตู้พิสูจน์อีกเท่าไหร่จึงจะหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้

Advertisment