ขึ้นค่าแรงอยู่ที่กรรมการไตรภาคี

ค่าแรง
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตราวันละ 2-16 บาท หรือขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.37 เพื่อที่จะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ปรากฏจังหวัดที่ได้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 370 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับการปรับต่ำสุด ได้แก่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 330 บาท

ในขณะที่กรุงเทพมหานคร กับอีก 5 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม-นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ-สมุทรสาคร ได้รับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาเป็นจังหวัดละ 363 บาท หรือเป็นกลุ่มจังหวัดอันดับสอง รองจากจังหวัดภูเก็ต ส่วนกลุ่มจังหวัดอันดับ 3 ที่ได้รับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 361 บาท ได้แก่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง

ต้องไม่ลืมว่า การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ได้ประกาศนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำไว้สูงถึง 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเองก็มีเป้าหมายไว้ที่วันละ 400 บาท “โดยเร็วที่สุด” ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราดังกล่าว จะพิจารณาจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ผลิตภาพแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อ

ขณะที่สูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคี มีเงื่อนไขจะต้องพิจารณาจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราค่าเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าทำไม นายกรัฐมนตรีกล่าวในทำนองที่ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสูงกว่านี้ ต้องแฟร์กว่านี้ ต้องดูภาพรวมทางเศรษฐกิจทั้งหมดอย่าง 3 จว.ชายแดนภาคใต้ ขึ้นค่าแรงแค่ 2 บาท ซื้อไข่ 1 ลูกยังไม่ได้เลย

ทว่าการพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ซึ่งได้ตกลงขึ้นค่าจ้างในอัตราวันละ 2-16 บาทไปแล้ว การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่อำนาจของรัฐบาล รัฐบาลมีเพียงนโยบายที่ต้องการให้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในอัตรา 400 บาท โดยเร็วที่สุด

ดังนั้นวิธีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลก็คือ การนำมติของคณะกรรมการไตรภาคีเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อ “รับทราบ”

โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีแรงงานเอง มีความเห็นว่า ไม่ควรใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณเฉลี่ยค่าแรงในปี 2567 เพราะเศรษฐกิจปี 2566 กำลังฟื้นตัวดีขึ้น และปี 2567 รัฐบาลกำลังมีมาตรการบูสต์เศรษฐกิจ อาทิ ดิจิทัลวอลเล็ต แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการคำนวณอย่างไร เรื่องทั้งหมดจะต้องกลับไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ว่าจะเห็นชอบให้มีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาจากที่มีมติไปแล้วหรือไม่