สรท.ย้ำไตรภาคีปรับขึ้นค่าแรง 2-16 บาท วิเคราะห์รอบด้านแล้ว

ค่าแรง แรงงาน

สรท.มองการปรับขึ้นค่าแรง 2-16 บาท เป็นการหารือของไตรภาคีตามข้อมูลอย่างครบถ้วน ขณะที่ รัฐบาลแนะต้องพิจารณาใหม่ ย้ำ ค่าแรงยังไม่มีผลต่อราคาสินค้าอย่างมีนัยะสำคัญ แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดการใช้แรงงานคน

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่รัฐบาลมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% ยังไม่เหมาะสมนั้น สรท.มองว่าต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคีในการพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากมีการหารือ และวิเคราะห์ข้อมูลมาอย่างรอบด้านแล้ว

ชัยชาญ เจริญสุข
ชัยชาญ เจริญสุข

แต่อย่างไรก็ดี ก็จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายนโยบาย โดยเฉพาะกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งหากประเทศไทยจะก้าวข้ามปัญหาเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และขจัดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการกำหนดอัตราที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคเอกชนจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองหันมาลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิต และลดการพึ่งพิงแรงงานคน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย โดยรัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน

รวมทั้งจะต้องมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างทั้งระบบ โดยให้มีการจ่ายค่าแรงตามระดับของทักษะแรงงาน นอกเหนือไปจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ได้รับอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่คณะกรรมการไตรภาคีมีการประกาศอยู่แล้ว

“ขณะนี้ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่ หากปรับขึ้นตามมติ คณะกรรมการไตรภาคี เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก เพราะจะไม่ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้า แต่หากขึ้นมากกว่ามติไตรภาคี ผู้ประกอบการก็อาจจะผลักภาระ ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าจะกระทบต่อการส่งออกแน่นอน ส่วนการปรับขึ้นค่าไฟก็เช่นกัน ต้องรอดูว่าจะปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหน หากปรับมากก็จะกระทบกับภาคการส่งออก และราคาสินค้าเช่นกัน”

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนและจริงจัง แม้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะยังไม่กระทบกับต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างมีนัยยะสำคัญ ราคาสินค้ายังไม่ปรับตัวขึ้น แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำไว้ล่วงหน้า คือ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้

เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มขั้น ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงตามมา และรัฐบาลจะต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหันมาใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการใช้แรงงานเข้มข้น