โฆษกรัฐบาล เผยเหตุ “พิพัฒน์” ดึงค่าแรงขั้นต่ำไปทบทวน

ค่าแรง
Photo by Pixabay

โฆษกรัฐบาล เผยสาเหตุ “พิพัฒน์” ขอถอนมติค่าแรงขั้นต่ำไปทบทวน เพราะนำตัวเลขเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 มาพิจารณา ทำให้ได้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ากระทรวงแรงงานนำมติคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่ม 2-16 บาท มานำเสนอให้ ครม.รับทราบ แต่เนื่องจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 87 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างใช้เป็นหลักเกณฑ์ขึ้นค่าแรงที่เอาตัวเลขต่าง ๆ ย้อนหลัง 5 ปีมาคำนวณเฉลี่ยกันนั้น

เป็นการนำตัวเลข 2563-2564 มาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ติดลบมาก ๆ เพราะโควิด-19 การนำตัวเลข 2 ปีนี้มาคำนวณด้วยจะทำให้ได้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง และผิดมาตรฐาน จึงน่าจะนำออกไป

ครม.รับทราบและแสดงความเห็นด้วยในข้อสังเกตนั้น ครม.ให้สิทธิกับ รมว.แรงงานว่าจะยืนยันเสนอให้รับทราบหรือไม่ นายพิพัฒน์จึงขอถอนไปก่อน จึงเท่ากับ ครม.ได้ยินเฉย ๆ ยังไม่ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ

“เน้นย้ำนะครับ การถอนออกไปเกิดจากข้อสังเกตของ รมว.แรงงาน ครม.ไม่มีอำนาจไปสั่งการให้คณะกรรมการค่าจ้างทบทวนอะไรทั้งสิ้น รมว.แรงงาน มีหน้าที่นำมติของคณะกรรมการค่าจ้างมารายงานให้ที่ประชุมทราบ ท่านได้ขอถอนไปด้วยข้อสังเกตดังกล่าว จึงต้องรอดูต่อไปว่าการนำข้อสรุปคณะกรรมการค่าจ้างนั้นจะนำมาเสนออีกครั้งเมื่อไหร่ ส่วนจะทบทวนหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจของ ครม. เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไปว่ากัน” นายชัยกล่าว

นายชัยกล่าวว่า เหตุผลของ รมว.แรงงานดีเยี่ยม ทุกคนเห็นด้วยหมด นายกฯ ไม่ได้พูดอะไรเลยในเรื่องดังกล่าว