เตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูแล้ง

ฤดูแล้ง
ภาพจาก : freepik
บทบรรณาธิการ

หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แสดงความเป็นห่วงว่าภัยแล้งจะกระทบภาคการเกษตรและน้ำกินน้ำใช้ของประชาชน และได้ขอให้กรมชลประทานติดตามรายงานสถานการณ์น้ำภายในประเทศอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งขนาดนี้ได้ปลูกข้าวเกินไปกว่าแผนที่วางเอาไว้แล้ว ด้วยเกรงว่าจะขาดแคลนน้ำในการทำนาและอุปโภคบริโภค แม้จะมีการประเมินสถานการณ์น้ำล่าสุดยังจะมีเพียงพอไปถึงต้นฤดูฝน 2567 ก็ตาม

โดยสถานการณ์น้ำของประเทศล่าสุด (ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567) ปรากฏว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศมีปริมาตรน้ำใช้การได้อยู่ที่ 23,230 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 โดยปริมาณน้ำจำนวนนี้ “น้อยกว่า” ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 2,291 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 435 แห่ง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 2,937 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ต่ำกว่าร้อยละ 30 และเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ได้มีจำนวน 5 อ่างหลัก ได้แก่

อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จากปริมาตรน้ำใช้การได้เต็มอ่างที่ 6,660 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้เหลือน้ำใช้การได้เพียง 1,945 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 29 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำเขื่อนทับเสลาในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเหลือน้ำใช้การได้ 52 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 อ่างเก็บน้ำเขื่อนกระเสียวสุพรรณบุรีเหลือน้ำแค่ 12 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 13 อ่างเก็บน้ำคลองสียัดในภาคตะวันออก จากปริมาตรน้ำใช้การได้เต็มอ่างที่ 390 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้เหลือน้ำแค่ 31 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ส่วนอ่างเก็บน้ำเขื่อนปราณบุรีมีปริมาตรน้ำใช้การได้ 117 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31

แม้ว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของประเทศโดยภาพรวมจะมีปริมาณน้ำใช้การได้เกินกว่าครึ่งของความจุอ่างก็ตาม แต่เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในช่วงสถานการณ์เอลนีโญ หรือฝนน้อยน้ำน้อย ไปจนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567 ประกอบกับปีนี้มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะพุ่งขึ้นสูงกว่า 40 องศา ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการระเหยของน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ่างขนาดเล็ก ที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญของแหล่งน้ำกินน้ำใช้ในพื้นที่ชนบท

ประกอบกับมีการปลูกข้าวนาปรังกันทั่วประเทศไปแล้วกว่า 8 ล้านไร่ จากแผนที่วางเอาไว้แค่ 5 ล้านไร่ย่อมต้องการน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงต้นข้าว ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีสั่งการขอความร่วมมือให้ชาวนางดปลูกข้าวนาปรัง ตลอดจนให้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ หาแหล่งน้ำสำรองในการช่วยเหลือประชาชน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจักต้องเร่งปฏิบัติทันที