ปรับแผนรับภัยพิบัติ

บทบรรณาธิการ

สถานการณ์น้ำท่วมทั้งในภาคอีสาน เหนือ กลาง ใต้ขณะนี้ แม้สาเหตุหลักจะมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หลายจังหวัดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะจังหวัดสกลนครผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 50 ปี ชี้ให้เห็นว่าฝนฟ้า ความร้อนแล้ง และภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติโดยไม่อาจประมาทวางใจได้

ที่น่าห่วงคือ วิกฤตทางธรรมชาติช่วงหลายปีที่ผ่านมารุนแรงผิดปกติ ทั้งยังอุบัติขึ้นแบบฉับพลันเหนือความคาดหมาย ความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงครอบคลุมในวงกว้าง เนื่องจากผู้ประสบภัย่ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า ไม่สามารถรับมือได้ทัน

ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ แม้ปัจจุบันเครื่องมือกลไกในการป้องกันแก้ไขปัญหาจะมีความพร้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการสื่อสาร ส่งสัญญาณเตือนภัย แต่ด้วยข้อจำกัดที่บางครั้งหน่วยงานรัฐ รวมทั้งประชาชนเองอาจประเมินสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตต่ำไป เพราะเคยชินกับฝนฟ้าภูมิอากาศตามฤดูกาลปกติ เมื่อสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตฉุกเฉินจึงยากจะรับมือไหว

หลังวิกฤตอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่าไม่ได้ ขณะที่ธนาคารโลกประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจที่ 1.44 ล้านล้านบาท จัดเป็นภัยพิบัติที่มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก แต่วิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากยังเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องที่ยังแก้ไม่ตก

ทั้ง ๆ ที่หากสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยได้ชัดเจน พร้อมหาทางป้องกันแก้ไขหรือเตรียมการรับมือภัยพิบัติไว้ล่วงหน้า จะช่วยลดระดับความรุนแรงของปัญหาและความสูญเสียที่จะตามมาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ทุกฝ่ายไม่ได้นำบทเรียนที่เคยได้รับมาปรับใช้เต็มที่ การป้องกันแก้ไขและบริหารจัดการปัญหาจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญคือ นอกจากภูมิอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลกระทบถึงประเทศไทยแล้ว พื้นที่ป่าไม้ที่ลดน้อยลงมาก ขณะที่พื้นที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งรองรับน้ำถูกนำมาใช้ประโยชน์ ก่อสร้างบ้านเรือน อาคารสิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง กีดขวางการระบายน้ำ การนำมาตรการทางผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร มาบังคับใช้อย่างจริงจัง จำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ควบคู่กับจัดทำแผนป้องกันแก้ไขภัยพิบัติรายพื้นที่-รายจังหวัด

ขณะเดียวกันก็นำบทเรียนที่เคยได้รับ มาปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม แทนการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ซึ่งไม่สามารถรับมือวิกฤตทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นได้ ทุกฝ่ายจึงต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกันบรรเทาภัยพิบัติ ลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด