มณฑลแห่งความยั่งยืน โดย ดร.วรวุฒิ ไชยศร

คอลัมน์ CSR Talk โดย ดร.วรวุฒิ ไชยศร

เกือบ 20 ปี ที่ผมคร่ำหวอดอยู่ในวงการ CSR จากจุดเริ่มต้นที่ CSR ขององค์กรธุรกิจแต่ละองค์กรจะเน้นด้านกิจกรรมสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (corporate social responsi-bility : CSR) มีการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยมาสักระยะหนึ่งแล้ว และทุกช่วงเวลามักจะสะท้อนภาพของแนวคิด หลักการต่าง ๆ ว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ประสบผลสำเร็จ

หรือมองเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถส่งต่อผลประโยชน์ได้อย่างแท้จริงต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ขณะที่นักวิชาการต่างแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ด้วยการกำหนดคำนิยาม ความหมาย และการลงรายละเอียดไปถึงกระบวนการต่าง ๆ ตามห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในด้านการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของยุคสมัย

ไม่ว่าจะเป็นการบัญญัติศัพท์ความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility : CSR), การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development : SD), การสร้างคุณค่าร่วม (creating share value : CSV), วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise : SE), ธุรกิจเพื่อสังคม (social business : SB) หรือแม้แต่การคิดค้นเครื่องมือในการวัดคุณค่า และผลกระทบทางสังคมกับโครงการด้านสังคมต่าง ๆ ที่องค์กรทำ เช่น social impact assessment, social return on investment

ซึ่งในการแถลงทิศทาง CSR ปี 2561 โดยสถาบันไทยพัฒน์ก็มองว่าการพิจารณาถึงสิ่งที่องค์กรดำเนินการ และผลกระทบที่ส่งไปถึงผู้เกี่ยวข้องในช่องทางข้างต้นนี้ ก่อให้เกิดเป็นมณฑลแห่งความยั่งยืน (the sphere of sustainability) ที่อธิบายความสัมพันธ์ในเรื่อง CG, ESG, CSR, SD, CSV, SE, SB ว่าแต่ละเรื่องมีเหตุผลของการดำรงอยู่ ตามบริบทที่เรื่องนั้นเข้าไปเกี่ยวข้อง มิใช่นำมาใช้แทนกันได้

แต่ใช้เพื่อค้นหาวิธีการในการดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะแห่งความยั่งยืน และนี่คือสิ่งที่ต้องค้นหาความรับผิดชอบต่อสังคมกันต่อไปว่า มีความสำคัญ และจำเป็นต้องทำ และจะทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างไร

รวมไปถึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้อย่างไร ?

ระหว่างที่ผู้เขียนศึกษาที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มีโอกาสศึกษา และวิจัยความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (corporate social responsibility : CSR) กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development : SD) ในเชิงคุณภาพ

ซึ่งเป็นการศึกษากิจกรรมโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมใน 6 บริษัท จำกัด มหาชน (บมจ.) ได้แก่ 1) บมจ.ธนาคารกรุงไทย-โครงการกรุงไทยยุววาณิชย์ 2) บมจ.ปตท.-โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 3) บมจ.สหวิริยา อินดัสตรี-โครงการธนาคารชุมชน 4) บมจ.บางจากปิโตรเลียม-โครงการปั๊มชุมชน 5) บมจ.ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล-โครงการรักการอ่าน และ 6) บมจ.เอสซีจี-โครงการรักษ์น้ำเพื่ออนาคต

ทั้งหมดเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำในไทย ที่มีกระบวนการดำเนินการ และพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ทั้งยังเคยได้รับรางวัลความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Award) และรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) CSR CLUB สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสถาบันไทยพัฒน์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลวิจัยชี้ชัดว่า ซีเอสอาร์ที่ยั่งยืน สามารถสะท้อนการขับเคลื่อนถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืนได้

ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริหารบริษัท/ผู้แทนบริษัท นักวิชาการ และผู้บริหารองค์กร ต่างมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในด้านความจำเป็น เป้าหมาย การดำเนินการต่อประเด็นหลัก 4 ข้อ คือ

1) CSR มีความจำเป็น และสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

2) มองว่าองค์กรธุรกิจต้องได้รับการยอมรับจากสังคม (พึ่งพาอาศัย/เกื้อกูลกันและกัน/องค์กรมีรายได้-ชุมชนมีรายได้) ทำให้ได้ใบอนุญาตจากสังคม

3) ความรับผิดชอบต่อสังคมทำให้องค์กร/ชุมชนมีความยั่งยืน

4) ผู้บริหารมีความสำคัญมากในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร/นโยบายองค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนความคิดเห็นในประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง 6 บริษัท พบว่า มี 10 รายการที่ผู้บริหาร/ตัวแทนบริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน ดังนี้

1) โครงการที่ทำอยู่นำไปสู่ความยั่งยืนได้

2) สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน

3) มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความสม่ำเสมอในการดำเนินโครงการ

4) ตระหนักถึงความสำคัญของสังคม

5) ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจ

6) เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

7) สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้คนในชุมชน

8) สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนยืนได้ด้วยตนเอง

9) เริ่มต้นจากแนวคิดผู้บริหาร

10) พึ่งพาอาศัย เกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างบริษัทและชุมชน

จากผลวิจัยสรุปว่า ทั้ง 6 บริษัทมีการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมมาเป็นระยะเวลานาน มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีการจัดทำนโยบาย และแผนกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อองค์กร และพนักงานที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่

ซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทมีความจำเป็นมาก ที่ควรนำ CSR เข้าไปอยู่ในกระบวนการธุรกิจ ที่เรียกว่า “CSR-in-process” อันจะนำไปสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านกิจกรรม หรือโครงการต่าง ๆ ของบริษัท จนกระทั่งกลายเป็นนโยบาย และนำไปสู่การเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของบริษัทต่อเรื่องดังกล่าว

จึงควรมีกลยุทธ์ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัท โดยทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และควรมีความชัดเจนว่า ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อองค์กรคืออะไร ทั้งนี้ เพื่อสามารถนำมาวางแผนกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท การเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการธุรกิจ CSR กับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

ถ้าหากเชื่อมในแง่การใช้กลไกเชิงกฎหมาย เชิงจรรยาบรรณ ก็จะไม่ใช่วิธีธรรมชาติ ซึ่งควรเป็นวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงอยู่ด้วยกับความยั่งยืน คือทำธุรกิจแล้วตอบโจทย์สมดุลได้ทั้ง 3 เรื่อง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กัน

CSR คือ hub ที่เชื่อมโยงคนทั้งโลกให้มีจิตสำนึก

ในประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้เขียนได้ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวลความรู้จากทั้งแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการศึกษาโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้บริหารบริษัทที่เป็นกรณีศึกษา 6 บริษัท ผู้บริหารองค์กรและนักวิชาการ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และสามารถกลั่นกรองเป็นนิยามของคำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

CSR คือ hub ที่เชื่อมโยงคนทั้งโลกให้มีจิตสำนึกที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อหน้าที่ ต่อองค์กร สังคม และประเทศชาติ ครอบคลุมพันธกิจในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นการดำเนินการธุรกิจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดขององค์กรธุรกิจด้วยจิตอาสา และต้องมีนวัตกรรมใหม่ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มารองรับในการแก้ไขปัญหา พัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

เป็นความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต กล่าวคือการพัฒนาองค์กรธุรกิจอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปเป็นกิจการเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เกิดใหม่ หรือองค์กรที่มีอยู่เดิมก็ตาม ตามโมเดลความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable CSR)