หัวอกมนุษย์เงินเดือน

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

ต้นทุนการดำเนินชีวิตคนกรุง นับวันมีแต่จะสูงขึ้นทุกวัน

วันนี้ ถ้าอยากมีห้องชุดคอนโดมิเนียมทำเลดี ๆ มีที่ตั้งตามแนวรถไฟฟ้าในเมือง ต้องเตรียมเป็นหนี้กัน 2-3 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย ! ! !

เงิน 2-3 ล้านที่ว่า ไม่ได้หมายความว่าเรามีโอกาสเป็นเจ้าของห้องชุดพื้นที่ใหญ่โตอะไร แต่เป็นห้องสไตล์สตูดิโออเนกประสงค์ พื้นที่ราว ๆ 20 กว่าตารางเมตรเท่านั้น

ภายในพื้นที่ขนาดที่ว่า เป็นทั้งห้องนอน ห้องน้ำ ลิฟวิ่งรูม โต๊ะอเนกประสงค์ ตู้เสื้อผ้า ตู้เก็บของ บวกกับครัวเล็ก ๆ รวมอยู่ด้วยกัน

หอพักตามมหาวิทยาลัยอาจใหญ่กว่านี้

เคยเห็นแต่ภาพห้องพักแคบ ๆ ในโตเกียว ฮ่องกง เคยตั้งคำถามในใจว่า…ทนกันได้อย่างไร

ถ้าตัวคนเดียวคงพอไหว แต่ถ้าครอบครัวขยายมีสมาชิกเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวสายอสังหาริมทรัพย์ของ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับคำอธิบายจากสมาคมอาคารชุดไทยว่า ปัจจัยสำคัญทำให้ราคาห้องชุดปรับตัวสูงขึ้นมาจากปัญหาเดิม ๆ นั่นคือราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าทั้งสายปัจจุบันและที่กำลังสร้างใหม่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใคร ๆ ก็อยากทำโครงการในแนวรถไฟฟ้า เพราะทั้งซื้อง่าย ขายก็คล่อง

สมาคมอาคารชุดเคยทำโมเดลค่าครองชีพ พบว่า หากคิดอ่านเป็นเจ้าของห้องชุดระดับราคาห้องละ 2 ล้าน ต้องมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 27,000 บาทเป็นอย่างน้อย

“ถ้าหากราคาสูงกว่านี้ อาจซื้อลำบาก หรือถึงขั้นซื้อไม่ได้เลย เพราะเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้ครัวเรือนสูง”

คุณประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าต้นทุนที่ดินตารางวาละ 5 แสนบาท ราคาห้องชุดจะอยู่ที่ 1.5-2 แสนบาทต่อตารางเมตร

ถ้าที่ดินตารางวาละ 1-1.2 ล้าน คำนวณเป็นราคาขายห้องชุดคือ 2.5-3 แสนบาทต่อตารางเมตร

“ฟันธงได้เลยว่า ราคาแบบนี้คนชั้นกลางหมดสิทธิ์ซื้อคอนโดฯแนวรถไฟฟ้าทำเลในเมือง”

ย้ำอีกครั้ง นี่คือคอนโดฯแนวรถไฟฟ้าในเมือง ส่วนที่นอกเมืองไกลออกไป ราคาตารางเมตรไม่ถึงแสนยังมีให้เลือกอีกเยอะ แต่ก็ต้องแลกกับเวลาในการเดินทาง ต้องตื่นเช้าขึ้นเพื่อหนีการจราจรที่ติดขัด เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ย่อมสูงกว่ามีบ้านในเมือง

มาดูภาพรวมที่แวดวงธุรกิจผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยมองกัน

แม้ว่าห้องชุดจะมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี จะจากเหตุผลอะไรก็ตาม แต่จากการเก็บข้อมูลของค่ายพฤกษาฯ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดก็ยังเติบโตขึ้นทุกปี

ตัวอย่างเช่น ในปี 2560 ภาพรวมตลาดเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีมูลค่าทั้งสิ้น 431,970 ล้านบาท ทำให้เบื้องต้นมองกันว่าปีนี้ตลาดน่าจะขยับไปแถว ๆ 460,000 ล้านบาท

แต่ล่าสุดได้มีการปรับตัวเลขประมาณการกันใหม่เป็น 480,000 ล้านบาท สืบเนื่องจากการเติบโตในช่วงไตรมาสแรกที่ทำยอดขายขึ้นไปแถว ๆ 123,713 ล้านบาท โตขึ้น 27% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จุดที่ทุกคนในแวดวงนี้เป็นห่วงตรงกันก็คือ ถ้าราคาต่อยูนิตยังขยับไม่ยอมหยุด ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าตลาดจะมีกำลังซื้อมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับราคาห้องชุดที่สูงขึ้นไปรับกับราคาที่ดิน

แน่นอนว่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่ และมีจุดขายอยู่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ โดยสภาพการณ์แล้วไม่น่าเป็นห่วงอะไรมากนัก นอกจากสายป่านที่ยาวกว่า

ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังเดินหน้าเปิดตลาดนักลงทุนในต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อมาบาลานซ์กับกำลังซื้อในประเทศ

มองถึงทิศทาง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ มนุษย์เงินเดือนทั่ว ๆ ไป ต้องหาที่อยู่อาศัยไกลจากใจกลางกรุงเทพฯมากขึ้นเรื่อย ๆ

หรืออาจต้องเป็นมนุษย์อพาร์ตเมนต์-บ้านเช่า จนชั่วชีวิต

โดยไม่อาจปฏิเสธได้