ตลาดเกิดใหม่เสี่ยงถูกโจมตีค่าเงิน

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ [email protected]

เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ emerging markets และอาเซียนบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา บราซิล ตุรกี รัสเซีย มีความเสี่ยงจะถูกโจมตีค่าเงินและตลาดการเงินอีก จากเงินทุนที่เคลื่อนย้ายระยะสั้นในตลาดการเงินไหลกลับสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้

ขณะที่เศรษฐกิจโดยภาพรวมที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ที่ 2.5% ภาวะดังกล่าวทำให้ค่าเงินของประเทศในกลุ่ม emerging markets อ่อนตัวถ้วนหน้า โดยเฉพาะประเทศที่มีดุลการค้าดุลบัญชีเดินสะพัดอ่อนแอ มีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่สูงนัก และเงินเฟ้อสูง

ประเทศไหนที่เงินไหลออกมาก ๆ จะเป็นเป้าหมายการถูกโจมตีค่าเงินได้อีก บางประเทศอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสกัดการไหลออกของเงินทุน อย่างฟิลิปปินส์ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 3.5% เพื่อสกัดเงินไหลออกและเงินเฟ้อ ทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแออยู่ในสภาวะที่ยากลำบากหากต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะที่เงินบาทไทยมีความเสี่ยงต่ำที่จะถูกโจมตี เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง เงินเฟ้อต่ำ ยังเกินดุลการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ยังต้องเผชิญกระแสเงินทุนระยะสั้นไหลออกอีกระยะหนึ่ง อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าแตะ 33.50-34.00 ในไตรมาสสามได้

แต่เงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลดีต่อภาคส่งออกไม่มากนัก เพราะมีความผันผวนสูง และค่าเงินกลุ่มประเทศคู่แข่งใน emerging markets ก็ปรับตัวอ่อนค่าเช่นกัน ตอนนี้จึงยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

หากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน เงินยังคงไหลออกจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ทางการไทยอาจต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี

ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ การปรับตัวลดลงและปรับฐานครั้งใหญ่ของราคาหุ้นมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ การทำ QE exit และความกังวลสงครามการค้า โดยต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปแล้ว 165,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากในช่วงสองไตรมาสแรกของปีนี้ หากรวมยอดขายสะสมสุทธิที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ที่เริ่มมีเงินทุนระยะสั้นไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ จะมียอดขายสะสมทั้งหมดที่สูงถึง 498,000 ล้านบาท

ตอนนี้ นักลงทุนต่างชาติมีน้ำหนักหุ้นไทยเฉลี่ยที่ 2.8% ใกล้เคียงกับน้ำหนักหุ้นไทยใน MSCI Asia ex. Japan Index ที่ 2.6% แรงขายเพิ่มเติมจะเกิดจากการลดน้ำหนักการลงทุนของกองทุนต่างชาติในตลาดเกิดใหม่ ส่วนปัจจัยภายในของไทยที่กระตุ้นให้เกิดแรงเทขายมาจากปัจจัยความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมือง มากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ยังไม่ปรับเปลี่ยนการประเมินตัวเลขจีดีพีใหม่โดยมองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 ยังคงอยู่ที่ 4.1-4.7% เงินเฟ้อขยับขึ้น อยู่ที่ 1.0-1.5% จากผลของสงครามการค้าจีนและสหรัฐ ระยะสั้น

และระยะปานกลางยังคงมีทั้งผลบวกและผลลบต่อภาคส่งออกไทย แต่หากสงครามการค้ายืดเยื้อจะเกิดความเสียหายต่อปริมาณการค้าโลก และกระทบสุทธิต่อภาคส่งออกไทยเป็นลบ

โดยปี พ.ศ. 2561 ดุลการค้ายังคงเกินดุลต่อเนื่องที่ระดับ 29-30 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าจะมีการเร่งตัวของการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าทุน สะท้อนการฟื้นตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3-4% อย่างไรก็ตาม ภาคการลงทุนจะชะลอตัวลงทันทีหากประเทศไทยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งหรือกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้ในช่วงต้นปีหน้า ส่วนการบริโภคเอกชนจะขยายตัวได้ในระดับ 3%

ทั้งนี้ การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ไม่ได้ส่งผลให้ภาคบริโภคกระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะการชะลอการสร้างหนี้มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปีนี้ และการก่อหนี้เพื่อการบริโภคยังต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภค โดยครัวเรือนหนี้สูงมีแนวโน้มชะลอก่อหนี้ใหม่

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะเป็นการเติบโตกระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น รายได้และผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่กระจายมายังกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กและประชาชนทั่วไปมากนัก เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรบางตัวที่ปรับลดลงมาก ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทไม่ดีนัก