ถึงเวลา แบงก์ 7-11

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

 

ผลประกอบการไตรมาส 2/61 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่งทยอยประกาศออกมานั้น ส่วนใหญ่ยังสามารถพยุงตัวกำไรสุทธิไว้ได้ แต่ก็ชัดเจนว่าส่วนใหญ่เจอปัญหารายได้จากการทำธุรกรรมลดลง หลังจากธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่เปิดศึกยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมดิจิทัลบนมือถือเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เพราะทุกแบงก์รู้ดีว่าถ้าไม่ลดภาระผู้บริโภค อาจเปิดทางหรือสร้างโอกาสให้คู่แข่งนอกวงการผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร ทำให้ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทุกแบงก์เปิดเกมตะลุมบอนแย่งชิงลูกค้าในยุคสังคมไร้เงินสดกันเต็มพิกัด ด้วยการดึงให้ลูกค้าขึ้นมาทำธุรกิจบนมือถือ เพราะจะสามารถติดตามพฤติกรรม ต่อยอดบริการ และสร้างรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้ได้เต็มที่ ทำให้ปีนี้ถือว่าสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ดุเดือดมากกว่าธุรกิจอื่น

เมื่อทุกอย่างอยู่บนมือถือ ความจำเป็นของสาขาลดน้อยลง เป็นเรื่องที่ทุกแบงก์ยอมรับ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงคุมกำเนิด และค่อย ๆ ปรับลด ยกเว้นแบงก์ไทยพาณิชย์ที่เดินเครื่องแรงประกาศนโยบายชัดเจนในการลดจำนวนสาขาและพนักงาน เพื่อลดต้นทุนและทรานส์ฟอร์มองค์กร

ขณะที่ปัจจุบันพนักงานสาขาของแบงก์ต่าง ๆ ก็ต้องยอมรับชะตากรรม เพราะแม้ว่าธนาคารจะบอกว่าไม่ได้ปลดพนักงาน แต่การปิดสาขาและโยกย้ายพนักงานไปอยู่ในสาขาอื่น ๆ หรือส่วนงานอื่นอาจเป็นแรงกดดันให้พนักงานบางส่วนลาออกไปเอง

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดโอกาสให้ธนาคารมี “แบงกิ้งเอเย่นต์” หรือตัวแทนธนาคารในการรับทำธุรกรรมฝาก-ถอน-โอน-รับชำระ โดยเบื้องต้นกำหนดถอนเงินกับโอนเงินได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อวันต่อคน

นี่จึงเป็นอีกช่องทางรองรับการให้บริการของแบงก์ โดยที่ทำให้แบงก์สามารถปรับลดสาขา เพื่อลดต้นทุนลงได้มากขึ้น พร้อมกับการปรับบทบาทหน้าที่ของสาขาที่เปลี่ยนไป

สำหรับ 2 บริษัทใหญ่ที่ดูจะมีความพร้อมและประกาศตัวชัดในการเป็น “แบงกิ้งเอเย่นต์” ที่ชัดเจนตอนนี้ก็คือ “ไปรษณีย์ไทย” ที่มีที่ทำการไปรษณีย์กว่า 1,194 แห่งทั่วประเทศ และ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารงานร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ โดย ณ สิ้นไตรมาสแรก เซเว่นฯมีสาขาทั้งสิ้น 10,533 แห่ง และเป้าหมาย 13,000 แห่งในปี 2564

ขณะที่ปัจจุบันแบงก์พาณิชย์มีสาขารวม 6,734 แห่ง ลดลงจากเมื่อสิ้นปีที่มี 6,783 แห่ง ปรับลดลง 50 สาขา และแนวโน้มก็ลดลงเรื่อย ๆ แบงก์ที่มีการลดสาขามากที่สุดก็คือแบงก์ไทยพาณิชย์ ครึ่งปีแรกปิดสาขาไป 92 แห่ง

เรียกว่าแบงก์ทยอยลดสาขา แต่เซเว่นฯกำลังเร่งขยายสาขาต่อเนื่อง นอกจากเป็นร้านสะดวกซื้อแล้ว ก็เตรียมพร้อมทำหน้าที่ในฐานะ “แบงกิ้งเซอร์วิส” แบบ 24 ชั่วโมง แม้เบื้องต้นจะทำได้แค่บริการฝาก-ถอนในวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นบาทก็ตาม

“ธานินทร์ บูรณมานิต” ซีอีโอแห่งซีพี ออลล์ ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรออนุมัติไลเซนส์การเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ของธนาคารพาณิชย์ 1-2 ราย

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์หลาย ๆ รายอยู่ระหว่างแต่งตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ โดยล่าสุด นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารได้ยื่นแผนยุทธศาสตร์การจัดตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์กับ ธปท.แล้ว มีทั้งบริษัทไปรษณีย์ไทย และนิติบุคคลอีก 5-6 ราย ที่ยังอยู่ในช่วงการหารือเรื่องรูปแบบและระบบในการให้บริการ

หมายความว่าต่อไปธุรกรรมการเงินพื้นฐานที่เดิมประชาชนต้องเดินทางไปที่สาขาแบงก์ นอกจากทำผ่านโมบายแบงกิ้งได้แล้ว อนาคตอันใกล้ ผู้บริโภคทั่วประเทศก็จะมีทางเลือกสามารถทำธุรกรรมฝาก-ถอน-โอนเงิน 24 ชั่วโมง ผ่านร้านสะดวกซื้อ แบบที่สะดวกกว่าการต้องเดินทางไปรอคิวที่สาขาแบงก์