ระวังสัญญาณเสี่ยงหนี้เสียสินเชื่อบ้าน

บทบรรณาธิการ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 แม้เสียงข้างมาก 5 : 2 จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับ 1.5% แต่ส่งสัญญาณชัดขึ้นอีกว่า ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินลดน้อยลงเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกัน ทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเติบโตต่อเนื่องยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย อย่างการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าบานปลายกลายเป็นสงครามทางการค้าของ 2 มหาอำนาจ ได้แก่ จีนกับสหรัฐอเมริกา ภาครัฐและเอกชนไทยจึงไม่ควรประมาทวางใจเป็นอันขาด

ที่สำคัญ กนง.วิตกกังวลเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน เนื่องจากพบว่าการแข่งขันที่รุนแรงทำให้มาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งลดลง

รูปธรรมที่ปรากฏ คือ การขยายระยะเวลาให้กู้เพื่อให้วงเงินในการผ่อนค่างวดของลูกค้าปรับลดลง การปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องให้เพิ่มเติม รวมทั้งมีการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สูงเกินกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เช่น ให้กู้เกินกว่า 100 % ของมูลค่าหลักประกัน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ กนง.ต้องจับตามอง และเตรียมมาตรการรองรับ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับสถาบันการเงิน

Advertisment

ข้อวิตกกังวลและการส่งสัญญาณเตือนดังกล่าวของแบงก์ชาติ ถือเป็นเรื่องที่สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ตลอดจนผู้ซื้อบ้านต้องรับฟังและปฏิบัติตามกฎกติกา เพื่อลดความสุ่มเสี่ยงจะเกิดหนี้เสีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่หมดยุคดอกเบี้ยขาลง ถึงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะขยับขึ้น ทั้งนี้ แบงก์ชาติระบุว่าช่วงไตรมาส 1/2561 ที่ผ่านมา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3.38% สูงขึ้นจากไตรมาส 4/2560 ที่อยู่ในระดับ 3.23% ซึ่งสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี ตั้งแต่ไตรมาส 2/2553

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านที่เริ่มเห็นสัญญาณเสี่ยงขยายวงมากขึ้น นอกจากสถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่แบงก์ชาติกำหนด โดยพิจารณาปล่อยกู้ด้วยความระมัดระวังแล้ว ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินก็ต้องสกัดกลุ่มเก็งกำไรหรือดีมานด์เทียมอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่คนซื้อบ้านต้องเลือกซื้อบ้านอย่างชาญฉลาดพิจารณารายได้ และกำลังความสามารถในการผ่อนชำระไม่ซื้อบ้านแพงเกินตัว หรือลงทุน-เก็งกำไรในลักษณะจับเสือมือเปล่า เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้ปัญหาลุกลามสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจในภาพรวมมากยิ่งขึ้น

Advertisment