คุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย…ตัดไฟแต่ต้นลม

บทบรรณาธิการ

ไม่บ่อยครั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หลังส่งสัญญาณเตือนถี่ยิบเนื่องจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) สินเชื่อบ้านและคอนโดฯพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง บวกกับมีการเก็งกำไร เสี่ยงเกิดฟองสบู่

แม้ในมุมมองของธนาคารพาณิชย์ กับผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ส่วนใหญ่จะมั่นใจว่าตัวเลขหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ยังไม่น่าห่วง แต่ทางเลือกที่แบงก์ชาตินำมาใช้คือการตัดไฟแต่ต้นลม เตรียมออกมาตรการใหม่มาควบคุมดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ต้นทาง โดยอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนประกาศบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2562

วัตถุประสงค์หลักคือการยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้จนเกินตัว ลดการเก็งกำไรอสังหาฯ และดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเกณฑ์ใหม่จะบังคับใช้กับสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ และสินเชื่อเพื่อการไถ่ถอนหรือรีไฟแนนซ์

สาระสำคัญ คือ (1) ให้นับรวมสินเชื่อ top-up ทุกประเภท ในการคำนวณอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) เพื่อสะท้อนความเสี่ยงจากมูลหนี้รวม และลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกัน

(2) ปรับจากเกณฑ์ risk weight by LTV เป็นเกณฑ์ LTV limit ที่ร้อยละ 80 สำหรับการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไป หรือที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป หรืออีกนัยหนึ่งกำหนดให้ผู้ซื้อบ้านและคอนโดฯ ต้องวางเงินดาวน์ 20% ของราคาบ้าน

อย่างไรก็ตาม หลังเปิดรับฟังความเห็นคิดและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาฯ สถาบันการเงินแล้ว แบงก์ชาติจะนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นมาตรการในเชิงป้องกันเพื่อช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบ และให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสม

ขณะที่ตัวแทนภาคธุรกิจ 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย มีกำหนดการจะเข้าหารือยื่นข้อเสนอแนะต่อแบงก์ชาติ เพราะเกรงว่าหากเกณฑ์ใหม่ในการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อบ้านและคอนโดฯเข้มงวดไป จะส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย รวมถึงผู้บริโภค

เป็นเรื่องดีที่แบงก์ชาติเร่งสกัดหนี้ NPLs สินเชื่อที่อยู่อาศัย การปล่อยกู้เกินเกณฑ์ การเก็งกำไรอสังหาฯ ทันทีที่เริ่มเห็นถึงความสุ่มเสี่ยง ป้องกันไม่ให้ลุกลามจนเกิดความเสียหายซ้ำ ผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน จึงต้องให้ความร่วมมือ พร้อมปฏิบัติตามกฎกติกา

ที่สำคัญอย่ามุ่งประโยชน์ส่วนตนมองแต่ผลกำไร โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภาพรวม