ปิโตรเลียมรอบที่ 21

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การเปิดประมูลเพื่อยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย G1/61 (แปลงเอราวัณเดิม) กับ G2/61 (แปลงบงกชเดิม) ในแง่ของรัฐบาลนั้นถือได้ว่า “ปิดฉาก” ลงอย่างงดงามจาก “ชัยชนะ” ของบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ ในทั้ง 2 แปลงภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

ชัยชนะที่ว่านี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลและการบังคับใช้ได้จริงของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม จากการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานเกือบ 10 ปี ระหว่างแนวคิดเดิมในระบบการให้สัมปทาน กับแนวคิดในการนำระบบอื่นมาใช้ท่ามกลางการ “ถกเถียง” ระหว่างข้าราชการที่เชื่อว่า ระบบการให้สัมปทานแบบเดิมนั้น มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ซึ่งไม่ได้มีปริมาณปิโตรเลียมมากมายมหาศาล กับเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทยที่เห็นว่า รัฐน่าจะได้รับประโยชน์ “มากกว่า” ในการเปลี่ยนแปลงจากการให้สัมปทานมาเป็น “เจ้าของ” แหล่งและจ้างเอกชนผลิตในระบบจ้างผลิต service contract หรือ SC ซึ่งจะเลยเถิดไปถึงข้อเสนอในการตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ”

ผลของการต่อสู้ข้างต้นได้นำมาซึ่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ซึ่งแน่นอนว่า ร่างขึ้นมาโดยข้าราชการกระทรวงพลังงานเจ้าของแนวคิดเดิมในระบบสัมปทาน ออกมาเป็นระบบการให้สิทธิและผลิตปิโตรเลียมที่ค่อนข้าง “พิลึก” กล่าวคือ มีถึง 3 ระบบผสมผสานกันไป ได้แก่ รูปแบบสัมปทานแบบเดิม, สัญญาแบ่งปันผลผลิต production sharing contract หรือ PSC และสัญญาจ้างบริการ service contract หรือ SC (อย่าลืมว่าระบบ PSC นั้นเคยเป็นข้อเสนอลำดับต้น ๆ ของฝ่ายคัดค้านการให้สัมปทานก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นระบบ SC ในภายหลัง)

Advertisment

และภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ถูก “ดีไซน์” ขึ้นมาใหม่นี้เอง กระทรวงพลังงานได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกกับแหล่งก๊าซธรรมชาติสำคัญ 2 แหล่งในอ่าวไทยที่สัมปทานกำลังจะสิ้นสุดอายุลงคือ แหล่งเอราวัณ (แปลง B10, B11, B12 และ B13) operate โดยบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กับแหล่งบงกช (แปลง B15, B16 และ B17) operate โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งอายุสัมปทานจะหมดลงในปี 2565-2566 ด้วยการใช้วิธีเปิดประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)

นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่พิสูจน์การมีผล “บังคับใช้” ได้จริงของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้ว่านี่ “อาจจะ” เป็นการเปิดประมูลในระบบ PSC เพียงครั้งแรกและครั้งเดียวของประเทศจาก “เงื่อนไข” สำคัญ 3 ประการที่ “ซ่อน” อยู่ในประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ กล่าวคือ

1) พื้นที่ที่มีผลสำรวจพบปิโตรเลียมมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไป หรือมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มีค่า “มากกว่า” 4 ล้านบาร์เรล/หลุม หรือมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ 3 ล้านล้าน ลบ.ฟุตขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่า “มากกว่า” 40,000 ล้าน ลบ.ฟุต/หลุม ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างบริการ (SC)

2) พื้นที่นอกเหนือจากข้อ 1) ให้พิจารณาจากสิ่งที่เรียกว่า “โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์” ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมที่มีพื้นที่นั้นอยู่เทียบกับโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยที่ถูกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 39 หากโอกาสพบปิโตรเลียมมีค่า “สูงกว่า” 39% ให้ใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แต่หาก “ต่ำกว่า” 39% ให้กลับไปใช้ระบบสัมปทาน

Advertisment

เป็นความจริงที่ดูเหมือนว่า จะมีเฉพาะภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทะเลในอ่าวไทยเท่านั้นที่มีโอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์เกินกว่า 39% หรืออยู่ที่ 50% นั่นหมายความว่า การเปิดประมูลยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่กำลังจะมาถึง ส่วนใหญ่แล้วจะไม่พ้นการนำระบบสัมปทานกลับมาใช้ใหม่

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!