เมื่อไฟฟ้าไหลได้สองทาง และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานทรงพลัง

คอลัมน์ แตกประเด็น โดย รัชดา เจียสกุล บจ.โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)

ปีที่ผ่านมา ดิฉันซุ่มแอบเรียนวิทยายุทธ์จากจอมยุทธ์ด้านพลังงานนามว่าท่าน รศ.ดร.วัฒนพงศ์ รักษ์วิเชียร แห่งวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ทกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง solid state physics และเป็นผู้ก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาแล้วหลายมหาวิทยาลัย ท่านอายุ 72 แล้วค่ะ

แต่ขณะนี้ท่านเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานแห่งชาติ ที่มีเจ้าภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง

แพลตฟอร์มนี้จะใช้เทคโนโลยี blockchain เป็นโครงการ blockchain โครงการแรกของโลกที่มีเจ้าภาพเป็นการไฟฟ้าที่ครองตลาดไฟฟ้าทั้งประเทศอยู่ และท่านยังทำโครงการซื้อขายพลังงานต้นแบบด้วย blockchain ภายใน smart grid ต้นแบบที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

ล้ำหน้าอย่างกับหนัง Star Wars เป็นต้นแบบ smart city ที่จับต้องได้จริง อยากให้ทุกคนได้ไปเห็นค่ะ

สำหรับคนที่เชื่อในเรื่อง disruption หรือความพลิกผันแบบรื้อถอน ตัวอย่างวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เป็นตัวอย่างใน textbook ด้านบริหารหลายเล่ม เพราะมันคือความพลิกผันแบบรื้อถอนที่แท้ทรู ลองนึกภาพตามนะคะ

ขณะนี้ประเทศไทยผลิตพลังงานไฟฟ้า จากก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ตามมาเป็นเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ แต่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ เกือบ ๆ ถึง 10% แล้ว วันนี้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เริ่มมีต้นทุนต่ำลงเรื่อย ๆ ท่านอาจารย์วัฒนพงศ์ เล่าให้ดิฉันฟังว่า สมัยก่อนซื้อ solar cell ติดท้องฟ้าจำลองในปี พ.ศ. 2520 ราคาวัตต์ละ 6,000 บาท ตอนนี้ ต้นทุนลดลง 300 เท่า เหลือวัตต์ละ 20 บาท

การผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมีต้นทุนการซ่อมบำรุง และต้นทุนวัตถุดิบต่ำลงแค่ไหน ถ้าไม่ใช้เชื้อเพลิง แต่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้มาฟรี ๆ ประเทศไทยซึ่งมีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงจะ

โชคดีแค่ไหนที่จะได้พลังงานไฟฟ้าที่ต้นทุนต่ำมาก ๆ แล้วผู้ขายพลังงาน

แบบเก่า ๆ สายฟอสซิล จะได้รับผลกระทบอย่างไร ? โดยเฉพาะเมื่อเราได้ไปตั้งเป้าลดโลกร้อนไว้ในความตกลงปารีส และผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าหน้าเดิม ๆ

ที่มี sunk cost มหาศาล จะต้องปรับตัวไหม? แล้วทำไมเราไม่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าให้หมดล่ะ ? ผู้คร่ำหวอดในวงการไฟฟ้าจะเล่าให้ท่านฟังว่าพลังงานจากแสงอาทิตย์นั้น มีคุณภาพของแรงดันไฟฟ้าไม่ค่อยสม่ำเสมอ หรือเรียกว่าปรากฏการณ์ duck curve พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มักถูกกระทบโดยสภาพอากาศมีพลังงานช่วงกลางวันแต่ไม่มีช่วงกลางคืน ส่งผลต่อประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน และความเสถียรของระบบ

ปรากฏว่าในปัจจุบันวิวัฒนาการของแบตเตอรี่มีความน่าตื่นเต้นมาก โรงไฟฟ้าสำรองพลังงานแบตเตอรี่แบบประกอบสำเร็จรูปใช้พื้นที่แค่ 1 ตู้คอนเทนเนอร์สำเร็จรูป การผลิตไฟ 10 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ 1 ตู้ container ขนาด 40 ฟุต เทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ผลิตไฟ 10 เมกะวัตต์ เช่นกัน ใช้พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ! เมื่อมีการเก็บกักพลังงานที่ทรงพลังเช่นนี้ ปัญหาเรื่องความเสถียรของระบบ หรือการพึ่งพาพลังงานจากกริดหลักจะเป็นอย่างไร ?

นี่ยังไม่รวมวิวัฒนาการเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ที่ทั้งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า และใช้ไฟฟ้าได้ เทคโนโลยีที่ราคาเอื้อมถึงแล้ว เช่น สมาร์ทมิเตอร์ สมาร์ทโฮม สมาร์ทกริด ที่เป็นปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว

ที่เราจะเริ่มได้ยินคำฮิตใหม่ คือคำว่า “prosumer” หมายถึงผู้ผลิต และผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้เดียวกัน นี่คือเมื่อไฟฟ้าไหลได้สองทาง ไม่ได้จากผู้ผลิตมายังผู้บริโภคทางเดียว แต่ผู้บริโภค ก็ผลิตได้ แล้วถ้าไม่ใช้ไฟ ก็ส่งออกไปขายได้ นึกภาพว่าพลังงานที่วิ่งอยู่บนสายไฟจะยุ่งเหยิงแค่ไหน ?

นั่นคือสาเหตุที่เราไม่สามารถปล่อยให้ปรากฏการณ์นี้ดำเนินไปแบบไร้การประคับประคอง และต้องให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค ความเข้าใจเรื่องเสถียรภาพของระบบ ความเข้าใจเรื่องความมั่นคงทางพลังงานแบบองค์รวม และความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยทั้งของระบบสายส่ง และด้านไซเบอร์เป็นอย่างมาก

นี่คือสาเหตุที่ดิฉันแน่ใจว่า นี่ไม่ใช่หายนะ แต่เป็นโอกาสในการปฏิรูป โอกาสในการก้าวกระโดด ก้าวข้ามปัญหาเก่า ๆ แก้โจทย์ เรื่องประสิทธิภาพในการบริหารโหลด แก้โจทย์ เรื่องการรองรับผู้เล่นใหม่ ๆ โอกาสธุรกิจใหม่ ๆ แก้โจทย์ เรื่องความมั่นคง และความปลอดภัยทางพลังงาน แก้แม้กระทั่งโจทย์ เรื่องโลกร้อน

ที่ผู้ที่เกรงกลัวว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การไฟฟ้าผลิตและจำหน่าย บริษัทพลังงานเจ้าใหญ่ ที่ถึงแม้จะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ และพร้อมที่สุดที่จะปรับตัว และเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากเทคโนโลยี

สำหรับบทวิเคราะห์ เรื่อง disruption นั้น มักเริ่มต้นที่คำถามว่า disruption เป็นการทำลายล้าง หรือสร้างโอกาส ? ถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรมันก็จะทำลายล้าง แต่ถ้าปรับตัว เปลี่ยนแปลง ทำไปเรียนรู้ไป เรียนรู้แล้วไม่ตกใจ ปรับต่อ ก็ต้องเป็นโอกาสแน่นอนค่ะ น่าจับตาธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่ ๆ ในวงการนี้นะคะ