“Food Safety” ในมือเรา

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตฯ

 

เข้าสู่ฤดูร้อนกันมาได้สักระยะ ปีนี้หนักหนาเอาการอยู่ครับ เป็นปีที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนกว่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส แว่ว ๆ ว่าจะสูงไปถึง 44-45 องศาเซลเซียสกันเลยทีเดียว น่าวิตกไม่น้อยครับ สำหรับการเลือกบริโภคอาหารในช่วงหน้าร้อน เพราะการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัยอาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ จากทุกขั้นตอนการผลิตของห่วงโซ่อุปทาน หรือตั้งแต่ฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร

โดยปกติอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนสารเคมี เช่น ปุ๋ยเคมี หรือยากำจัดศัตรูพืช และการปนเปื้อนทางกายภาพ เช่น เศษหิน เศษดิน ฝุ่นละออง แมลง หรือมูลสัตว์ต่าง ๆ ที่แฝงมากับอาหาร รวมทั้งเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

Advertisment

โดยเฉพาะประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ซึ่งจุลินทรีย์พวกนี้มักก่อให้เกิดอาการท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ เพราะเชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ

และด้วยวิถีการดํารงชีวิตของประชาชนในสังคมไทยปัจจุบัน มีการรับประทานอาหารสําเร็จรูปนอกบ้านมากขึ้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า คนกรุงเทพฯเฉลี่ยวันละ 3 ล้านคน ต้องรับประทานอาหารสําเร็จนอกบ้าน

ในจํานวนนี้ 1 ล้านคนซื้ออาหารจากแผงลอยริมถนน และผู้บริโภคร้อยละ 35.5 เคยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ ทําให้เกิดความเสี่ยงต่ออันตราย ทั้งทางจุลินทรีย์ สารเคมี และอื่น ๆ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องอาหารปลอดภัยออกสู่สาธารณะ สร้างความตระหนักรู้ต่อประชาชนในวงกว้าง

การใช้เทคโนโลยี AR (augmented reality) หรือเทคโนโลยีเสมือนจริง ได้ถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมประจําวัน มีการนําไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านศิลปะ การแพทย์ การศึกษา และการพาณิชย์ สามารถเข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่มีสมาร์ทโฟนเป็นปัจจัยที่ 5 ได้เป็นอย่างดี

Advertisment

โดยการพัฒนาสื่อมัลติมีเดียดึงดูดความน่าสนใจมาช่วยในการนำเสนอข้อมูลด้านอาหารปลอดภัยที่จะทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคโดยทั่วไป เข้าถึงข้อมูลด้านอาหารปลอดภัยได้โดยง่าย สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จึงได้ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำแอปพลิเคชั่น “Food Safety AR” อาหารปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี AR หนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ Safe Food For All เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการสร้างความตระหนักและการรับรู้ด้านอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี AR”

นำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิก และวิดีโอ แอนิเมชั่น ดึงดูดการใช้งาน ชูจุดแข็งเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารครบวงจรที่เข้าถึงง่าย นำผลการวิจัยและข้อมูลจากหลายหน่วยงานมาต่อยอดขยายผล แบ่งข้อมูลเป็นกลุ่มปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ กลุ่มสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ กลุ่มผลไม้และผลิตภัณฑ์ และกลุ่มธัญพืช ถั่วเมล็ดและผลิตภัณฑ์

สามารถเรียกดูข้อมูล เช่น ข้อมูลผู้ผลิต ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ มาตรฐานที่ได้รับ เลขทะเบียน อย. รวมทั้งข้อมูลด้านความปลอดภัยของอาหาร เป็นต้น ตลอดจนข้อมูลเนื้อหาในเรื่องทั่ว ๆ ไปที่เกี่ยวกับอันตราย ผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน หรืออาหารที่ไม่ปลอดภัย

โดยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลและองค์ความรู้จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ได้แก่ โครงการ Clean Food Good Taste ของกระทรวงสาธารณสุข โครงการร้านอาหารมาตรฐาน Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ผลงานวิจัยภายใต้โครงการ Safe Food For All ของ สวก. และผลงานวิจัยภายใต้โครงการ “มันมากับอาหาร” ของสถาบันอาหารเอง

แอปพลิเคชั่น “Food Safety AR” ในมือ (ถือ) เรา จะเป็นประโยชน์และจะช่วยลดผลกระทบจากการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงการบริโภคอาหารปนเปื้อน และสร้างเกราะป้องกันให้ผู้บริโภคชาวไทยมีสุขภาพที่ดีต่อไปครับ