เสถียรภาพรัฐบาล ส่อสัญญาณอันตราย !

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ได้มีโอกาสฟังเสียงสะท้อนนักธุรกิจภูธรหลายคน ในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 หลายคนเห็นความวุ่นวายในการช่วงชิงเก้าอี้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว… ถึงกับส่ายหน้าอย่างหนักใจ และพูดในทำนองเดียวกันว่า รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาจะอยู่บริหารประเทศได้นานเกิน 6 เดือนหรือไม่ ?

ความ “เปราะบาง” ทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ในการลงทุน และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องให้ “ทรุดหนัก” ลงไปอีก !

ดังที่ “ปรัชญา สมะลาภา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กังวลว่า ตอนนี้เศรษฐกิจเข้าสู่โหมดซึม กำลังซื้อไม่ดีมาตั้งแต่ช่วงต้นปี และจะซึมลึกมากขึ้น ซึมแล้วซึมเลย การจะกลับมาปั๊มหัวใจมันก็ยากลำบากแล้ว

“ที่สำคัญ ตอนนี้ทุกคนไม่ได้มองว่า จัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ได้ แต่ทุกคนมองว่า จัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว จะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพอยู่ไม่ได้นาน อันนี้ร้ายกว่าตั้งรัฐบาลไม่ได้ ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ยืดเยื้อ และไม่มีความแน่นอนในเชิงนโยบาย ตัวนี้ไปฉุดการบริโภค เพราะคนไม่ลงทุน ทุกคนรอให้มีความชัดเจนก่อนค่อยลงทุนจะปลอดภัยกว่า”

สอดคล้องกับ “สวาท ธีระรัตนุกูลชัย” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกว่า ตอนนี้กำลังซื้อในภาคอีสานยังทรุดเหมือนเดิม แม้จะมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมา เศรษฐกิจคงไม่ดีขึ้น ! เพราะไม่มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลใหม่จะอยู่ยาวถึง 6 เดือนหรือไม่ ? เพราะเสียงของรัฐบาล “ปริ่มน้ำ” ขณะที่ภาคเอกชนยังไม่ลงทุน หรือขยับน้อยมาก ชะลอกันมาเป็นปีแล้ว

“หลังงบประมาณออก ทุกคนจะอยู่ถึงหรือเปล่า การเมืองมัน 2 ข้าง ไม่ใช่ข้างเดียว มันไม่ได้เป็นการแข่งการเมืองตามกติการะบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการเมืองแบ่งข้าง ไม่มีเหตุไม่มีผลอะไร ผู้ประกอบการมองว่า การแบ่งข้างยังไม่จบ ต่างประเทศก็มองอยู่ว่าประเทศไทยเมื่อไหร่จะไปข้างหน้า เราต้องการความนิ่งทางการเมืองมากกว่า

เรื่องความเชื่อมั่นทุกคนรอดูจะไหวหรือไม่ ก็ต้องรอดูหลังผ่านงบประมาณไป หรืออาจจะได้เลือกตั้งใหม่ เพราะดูท่าเสียงของรัฐบาล “ปริ่มน้ำ” แต่ก็ดีอย่าง ใครเป็นรัฐบาลต้องทำงานแข่งกับคะแนนนิยม ไม่ใช่ใช้ประชานิยม ต้องทำงานแข่งเพื่อชิงคะแนนนิยม การใช้ประชานิยมจะไม่ได้ประโยชน์เลย ต้องใช้คะแนนนิยมจะได้ประโยชน์มาก ให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เอาเงินไปใส่กระเป๋าแล้วเงียบหายไป”

และตอกย้ำอีกเสียงจาก “บรรจง ดีเหลือ” รองประธานและเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ฟันธงว่า ในความรู้สึกส่วนตัวคาดว่า รัฐบาลชุดนี้จะอยู่ประมาณ 6 เดือน-1 ปี

เช่นเดียวกับอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ “วีระยุทธ สุขวัฑฒโก” ได้สะท้อนผ่านผู้สื่อข่าวภูมิภาคของประชาชาติธุรกิจในภาคเหนือ ทำนองเดียวกันว่า ค่อนข้างไม่มีความมั่นใจในด้านการบริหารจัดการนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่คะแนนเสียง “ปริ่มน้ำ” เป็นรัฐบาลที่ยังคลุมเครือ เพราะมีหลายพรรคการเมืองมาเข้าร่วม ซึ่งการทำงานอาจทำได้ยากลำบาก และไม่แน่ใจว่าจะอยู่ได้ยาวนานหรือไม่ ?

“การจะตัดสินใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่นั้น ต้องให้เวลาสักระยะหนึ่ง ซึ่งหากพรรคการเมืองแต่ละพรรคนำนโยบายที่เคยหาเสียงไว้มาเร่งปฏิบัติจริง คาดว่าอาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น”

ขณะที่ “มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์” ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า “ตั้งงี่สุน” ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งในจังหวัดอุดรธานี มองการเมืองไทยอย่างหนักใจว่า การเมืองไทยต้องแก้ไขพื้นฐานก่อน เพราะภาพในสภายังเป็นเหมือนเด็กตีกัน ด่าว่าฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่าง ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง น่าเกลียด ไม่มีวุฒิภาวะ เราต้องแก้ปัญหา ไม่ใช่หาคนผิด การเมืองบ้านเรายังเป็นแบบไทย ๆ ต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดนี้จะไปได้ไกลเพียงใด ก็ต้องให้โอกาสรัฐบาลให้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย นับจากนี้จะบริหารงานโดยอ้างมาตรา 44 ไม่ได้อีกแล้ว รัฐบาลต้องวิเคราะห์ให้ดี เพื่อให้เศรษฐกิจหมุน แต่ไม่ควรมีประชานิยมมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนของนักธุรกิจภูธรที่ออกมา ดูเหมือนหลายคนมองข้ามชอตไป 6 เดือนข้างหน้าอย่างไร้ความหวัง และถือเป็นการส่งสัญญาณอันตราย ! เพื่อเตือนภัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งหวังว่าบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลจะได้ตระหนัก หลังการตกลงผลประโยชน์ทางการเมืองลงตัว !