วิสัยทัศน์อาเซียน 2583 การเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ประดาป พิบูล ทีมกรุ๊ป

 

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไทยได้จัดเสวนาเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนครั้งที่ 10 เรื่อง “การระดมทุนสนับสนุนอาเซียนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน” ประธานอาเซียนจัดกิจกรรมนี้ทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 หลังจากที่ผู้นำได้รับรองแผนแม่บทการเชื่อมโยงฯ ฉบับที่ 1 เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นปี 2558 นั้น มีการเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงเป็นรูปธรรม

การเสวนาครั้งนี้นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการชูยุทธศาสตร์หลักของอาเซียน ในขณะที่ความสนใจได้หันเหไปที่นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน การรวมกลุ่มอินโด-แปซิฟิก ความผันผวนทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค ส่วนหัวข้อก็สะท้อนให้เห็นถึงงบประมาณกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐที่ต้องการต่อปีสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และอีกมากในการพัฒนาการเชื่อมโยงให้เป็นดิจิทัล

เวทีเสวนาได้เปิดโอกาส 3 ประการ ให้แก่ผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และโดยเฉพาะองค์กร/สถาบันทางการเงิน

-เพื่อติดตามสถานะล่าสุดของการดำเนินตามแผนแม่บท ฉบับที่ 2

-สำรวจลู่ทางการระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในห้าของแผนแม่บท(นวัตกรรมดิจิทัล โลจิสติกส์ไร้รอยต่อ กฎระเบียบอันเป็นเลิศ และการติดต่อระหว่างประชาชน)

-เตรียมตัวสำหรับยุคดิจิทัล

นอกจากนั้น 10 ปี หลังจากที่อาเซียนได้นำแผนแม่บททั้งสองฉบับไปปฎิบัติ การเสวนาครั้งนี้ยังเป็นโอกาสดีที่จะทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับ “ขอบเขตของการเชื่อมโยงในบริบทอาเซียน” เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ ติดตาม และตั้งความคาดหวัง ตามที่ผู้นำตกลงกันนั้น อาเซียนต้องการเชื่อมโยงกันเฉพาะทางด้านกายภาพ กฎระเบียบข้อบังคับ และการติดต่อระหว่างผู้คน ตามแผนปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์ หรือแผนแม่บทของความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ “ที่อาเซียนตกลงกันแล้วเท่านั้น” ซึ่งก็ขยายไปถึงประเทศคู่เจรจาและมิตรประเทศอื่น ๆ ด้วย อาเซียนมิได้มุ่งหวังที่จะให้การเชื่อมโยงครอบคลุมอย่างครอบจักรวาล

การดำเนินการตามแผนแม่บทที่ผ่านมาเป็นที่พอใจของผู้นำอาเซียน ถนนสายอาเซียนทุกสายเชื่อมโยงกัน รถไฟจากสิงคโปร์วิ่งถึงกัมพูชา นโยบายเปิดท้องฟ้าเสรีได้รับการสนอง การขนส่งทางเรือระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น กฎระเบียบทางเศรษฐกิจการค้าและบริการสอดคล้องกันกว้างขวางขึ้น ประชาชนไปมาหาสู่กันสะดวกและมีจำนวนสูงขึ้น ประเทศคู่เจรจาและหุ้นส่วนนอกอาเซียนสนับสนุนโครงการเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่อง ออสเตรเลีย จีน สาธารณรัฐเกาหลี และสหภาพยุโรป จัดสรรงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ช่วยพัฒนาสิบโครงการของแผนแม่บท

ในขณะที่อาเซียนย่างก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ประเด็นที่ได้รับความสนใจเสมอ คือ อาเซียนมีความพร้อมเพียงใดและเตรียมตัวไว้อย่างไร ซึ่งก็เหมือนกับภัยคุกคามที่ท้าทายองค์กรในอดีต สมาชิกอาเซียนจะร่วมมือกันแสวงหามาตรการเพื่อตอบโต้ อาเซียนได้วางรากฐานแล้วตามแผนแม่บทสารสนเทศและโทรคมนาคม 2 ฉบับ และในไม่ช้าจะเริ่มใช้แผนแม่บทฉบับใหม่ อาเซียนได้จัดตั้งเมืองอัจฉริยะ 26 เมือง ซึ่งสามารถขยายรูปแบบไปตามเมืองต่าง ๆ และเมืองขนาดกลาง 89 เมือง ที่เศรษฐกิจคาดว่าจะโตปีละร้อยละ 7 ในสิบปีข้างหน้า

ภายใต้การนำของไทยประธานอาเซียนตามแนวทาง 3 ซี (continuation, collaboration และ creativity) องค์กรได้เดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิผล ผลักดันกิจกรรมของอาเซียน ด้วยการสานต่ออย่างต่อเนื่อง ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และมีความสร้างสรรค์ กระนั้นก็ตาม “สิ่งที่จะทดสอบความสำเร็จของไทย” จะอยู่ที่ความสามารถขับเคลื่อนองค์กรให้ไปในทิศทางที่ยั่งยืนได้หรือไม่สำหรับยุคดิจิทัล

สถาบันวิจัยแม็คเคนซี่ประเมินว่า ในปี 2573 ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยทำให้เศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นถึง 13 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่ก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยง ซึ่งผู้นำอาเซียนและผู้บริหารระดับตัดสินใจจะต้องมีทักษะในการสังเกตเค้ารูปแบบของความเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือขจัดและถ่ายทอดให้ทั้งองค์กรช่วยกันรับมือ รูปแบบการเคลื่อนย้ายของสาธารณชนเองก็จะแปลงเปลี่ยนอย่างคาดไม่ถึง

ดังนั้น การล่วงรู้ว่าอาเซียนมองอนาคตและจะตอบโต้ความเสี่ยงยุค 4.0 อย่างไรจึงสำคัญ ในฐานะประธานอาเซียน ไทยได้ริเริ่มสนับสนุนให้สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (อีเรีย) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ฮาบีบี และศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และสากลของอินโดนีเซีย ศึกษาวิสัยทัศน์อาเซียน 2583* ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศและอีเรียได้จัดสัมมนาเปิดตัวรายงานการศึกษานี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมกว่า 60 คน และในเว็บไซต์ www.eria.org ในที่ประชุมสุดยอดเดือนมิถุนายน ได้รับทราบการศึกษานี้ และมอบให้สำนักเลขาธิการอาเซียนนำไปประเมินเพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอแนะต่อไป

จากการศึกษา อีเรียเห็นว่าวิสัยทัศน์ 2583 แม้ว่าจะขยายผลจากความสำเร็จของอาเซียนในอดีตเป็นพื้นฐาน แต่ครั้งนี้ทำในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ของโลกและภูมิภาค รวมทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อีเรียชี้ว่าใน 20 ปีข้างหน้า สิ่งท้าทายใหม่ของอาเซียน ได้แก่

-ความเป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ผลจากอินเดียและจีน ซึ่งขนาดเศรษฐกิจรวมกันจะกลายเป็นอันดับ 4 ของโลก

-การปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลในเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ส่วนการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมจะเร่งตัวเร็วขึ้น

-การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เข้มข้น ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อการเติบโตของอาเซียน

รายงานของอีเรียสรุปว่า แม้ว่าวิสัยทัศน์ 20 ปีจะมิได้แปลกใหม่ และขยายเพิ่มจากวิสัยทัศน์ 2563 และพิมพ์เขียว แต่การที่อาเซียนจะร่วมมือกันดังเช่นเคยนั้น ไม่เพียงพอแล้ว วิสัยทัศน์ 2583 มองว่า “ประชาคมอาเซียนจะมีการปรับรูปแบบการทำงานและมุ่งไปข้างหน้าอย่างแข็งขัน นุ่มนวล มองการณ์ไกล สามัคคี และเน้นการเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ในยุคดิจิทัล ความยั่งยืนของอาเซียนจะยังขึ้นอยู่กับจุดแข็งของอาเซียนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในความสามารถที่จะทัดทานภัยคุกคาม การวางองค์กรให้เป็นที่ดึงดูดและขีดความสามารถในการแข่งขัน อาเซียนจำเป็นต้องรักษาจุดแข็งนี้ไว้และเสริมด้วยยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 4.0 ภายใต้แผนแม่บท ตามเป้าหมาย “การพัฒนาให้องค์กรมีการเชื่อมโยงและรวมตัวกันอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ”

รายงานวิสัยทัศน์อาเซียน 2583 ประกอบด้วย ข้อมูลข้อสนเทศ ข้อวิเคราะห์และคำแนะนำที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ที่ติดตามพัฒนาการของอาเซียนน่าจะหาอ่าน

หมายเหตุ : อ่านรายงานการศึกษานี้ได้ที่ www.eria.org