อสังหาฯไฮสปีด ผู้เล่นหน้าใหม่

(แฟ้มภาพ) วันเซ็นสัญญา 24 ตุลาคม 2562
คอลัมน์ สามัญสำนึก

สมถวิล ลีลาสุวัฒน์ 

เป็นภาพประวัติศาสตร์และน่ายินดีที่ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า แม้เคยสะดุดหัวทิ่มมาแล้วหลายหน เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดทำเนียบต้อนรับ “เจ้าสัวน้อย” ศุภชัย เจียรวนนท์ บอสใหญ่บริษัทใหม่ “รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน” ชื่อตรงไปตรงมามาก

อีกชื่อคือ CPH ที่หุ้นกับพันธมิตรรายใหญ่ทั่่วไทย ทั่วโลก โดยดูฤกษ์เซ็นสัญญา PPP ก่อสร้าง “ไฮสปีดเทรน” เป็นที่เรียบร้อย เมื่อบ่ายพฤหัสบดี 24 ตุลาคม 2562

Advertisment

ถือเป็นการ “ปิดจ็อบ” เมกะโปรเจ็กต์ โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เงินมหาศาลและเจรจามานานข้ามปี

เปรียบคู่สัญญาเหมือนเป็น “คู่หมั้น” ที่ถูกจับแต่ง จะจัดงานเลี้ยงฉลองได้ ต้องคุยเรื่องสินสอด ค่าใช้จ่าย และความรับผิดรับชอบในอนาคต หากต้องเลิกรา หย่าร้าง

ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ฟันธงกันยาก เพราะได้กันแล้ว

การรถไฟแห่งประเทศไทย “แลนด์ลอร์ด” ตัวจริง ที่หวง “ที่ดิน” ยิ่งกว่าไข่ในหิน สวมบทเป็น “เจ้าสาว” ที่เข้าพิธี จะเคยอิดออด เล่นตัวอย่างไร ก็หมดฤทธิ์จบสิ้นแล้ว

เมกะดีลนี้ พ่อแม่เจ้าสาวประกาศยกที่ดิน “มักกะสัน” แปลงเฮี้ยนกลางใจเมือง ให้ฝ่ายเจ้าบ่าวด้วย

Advertisment

เป็น “สัญญาต่างตอบแทน” ที่ยอมจดทะเบียนสมรส

เพราะคัดสรรโปรไฟล์แล้ว ในประเทศนี้มีแต่ “ซี.พี.” เท่านั้นที่เหมาะ ในฐานะหัวหมู่ทะลวงฟัน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนตบเท้าเข้าร่วมหุ้น ช่วยดันและยัน GDP

ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีระยะทาง 220 กิโลเมตร จะทยอยสร้าง 4 ช่วง

จำได้ว่า เจ้าแม่เหล็กเส้น “จรรยา สว่างจิตร” เชียร์ให้เจ้าสัวสร้างเสร็จเร็ว ๆ เพื่อเธอจะเลิกนั่งเบนซ์มานั่งไฮสปีดแทน เพราะรถไฟวิ่งเร็ว 250 กม.ต่อ ชม.

เธอบอกว่า “จะออกรอบตีกอล์ฟวันเว้นวันเลย”

ส่วน “มูลค่าเพิ่่ม” ในอนาคตคือ ทำเลรอบ 9-10 สถานีอาทิ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา (พัฒนาเมืองใหม่ ปลุกถนน 304) ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา (จะเชื่อมเทอร์มินอลใหม่ กลุ่ม ซี.พี.จึงคาดหวังกับโปรเจ็กต์เมืองการบิน) และสถานีระยอง ใกล้ห้างเซ็นทรัล

ใครอยู่ย่านนั้น คิดไว้ได้เลยกับภาพอนาคต

จากมูลค่าโครงการ 2 แสนล้านบาท ไม่ใช่คนรวย คนเก่งเท่านั้นที่จะทำได้ ต้องเฮงด้วย ถึงจะได้ไปต่อ

แหล่งข่าวใกล้ชิดบรรดาเจ้าสัวเมืองไทยเล่าให้ฟังว่า “เจ้าสัวธนินท์ (เจียรวนนท์) แรก ๆ ก็ไม่ค่อยมั่นใจ กลัวเสี่ยง จึงออกปากชวนเสี่ยเจริญ (สิริวัฒนภักดี) มาร่วมหุ้นด้วย แต่เสี่ยเจริญบอกปฏิเสธอย่างนอบน้อม”

เพราะเสี่ยเจริญมีแผนลุยมิกซ์ยูสล้านตารางเมตร และรีโนเวต “พระราม 4” ให้เป็นมาสเตอร์พีซของตระกูล

ขณะที่มาสเตอร์พีซของ “เจ้าสัวธนินท์” คือ “อสังหาฯ+ไฮสปีด” ขานรับเมืองใหม่ EEC

แม้ช่วงแรกต้องทนแบกรับคำว่า “ขาดทุน” แต่สัมปทานนานถึง 50 ปี คงทำกำไรได้สบาย ๆ

โมเดลไม่ต่างกับรถไฟฟ้าบีทีเอสของ “คีรี กาญจนพาสน์” ที่เกือบเจ๊งตอนเริ่ม แล้วมารวยดังทีหลัง

CPH ประกาศจะดัน MQDC ของรุ่นลูกตระกูล “เจียรวนนท์” เป็นตัวเปิด ในฐานะผู้เล่นรายใหม่ของวงการพัฒนาที่ดิน

ภาพแข่งขันของอสังหาฯในโลกอนาคต คงสนุกขึ้น ใครไม่เจ๋งจริง ใหญ่จริง ยืนอยู่ยาก

ว่าแต่ตอนนี้ซัพพลายเออร์วัสดุ และผู้รับเหมาช่วง ก็เริ่มวิ่งเข้าหา CPH แล้ว

เพราะต้องเร่งสร้างให้เสร็จเฟสแรกใน 4 ปี ต้องใช้วัสดุหลักประเภทหนึ่งจำนวนมาก

เฉพาะปูนซีเมนต์ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เหล็กอีก 1 ล้านตัน จ้างแรงงานอีกแสนคน

CPH จะมีอนาคตเหมือนกับ “ทรูคอร์ป” ธุรกิจในฝันที่คนขายไก่ทำสำเร็จมาแล้ว จากที่เคยโดนปรามาส

มาวันนี้ คนขายไก่กำลังจะทำ “รถไฟฟ้า” แถมบ้าน