โรบอต 4.0 ได้หน้า อย่าลืมหลัง

นายอุตตม สาวนายน
ดร.อุตตม สาวนายน รมว.คลัง

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย เมตตา ทับทิม

จดหมายเปิดผนึกถึง “ดร.อุตตม สาวนายน”

ในฐานะนักการเมือง 1 รัฐมนตรี 2 เจ้ากระทรวงวันก่อน บริษัทมหาชนของตระกูลอัศวโภคิน “บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์” หรือโฮมโปร เปิดดีซี อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เยี่ยมชม

ดีซีหรือศูนย์ขนส่งและกระจายสินค้า (DC-dirstribution center) แห่งนี้ลงทุนเบ็ดเสร็จ 2,000 ล้านบาท

ใช้ระบบหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีโรบอตในการขับเคลื่อน ฟังแล้วน่าจะเริ่มคุ้นหูคุ้นตากันบ้าง

ถ้ายังจำกันได้ บริษัทโฮมโปร เป็น 1 ใน 8 ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ขึ้นเวทีเก็บแต้มผลงานให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม ในยุคที่มี รมต.เจ้ากระทรวงชื่อ “ดร.อุตตม สาวนายน”

โดยมีการเซ็น MOU (บันทึกข้อตกลงความร่วมมือรัฐกับเอกชน) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ รองรับการก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 แถมมีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560

ประเทศไทย อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ ผ่านมา 5 ปี (นับตั้งแต่รัฐบาล คสช.เริ่มโปรโมตไทยแลนด์ 4.0) ธุรกรรมทุกอย่างยังนิ่งอยู่กับที่ บริษัทไทย 8 รายในวันนั้นแสดงเจตจำนงพร้อมลงทุนในส่วนของกลุ่มผู้ใช้ หรือ demand side

ติดปัญหานิดเดียว ส่วนใหญ่ไม่สามารถขอรับการส่งเสริมลงทุนจาก BOI-Board of Investment ได้

เอ่ยนามกันอีกสักครั้ง 8 บริษัทใหญ่ ประกอบด้วย 1.บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย 2.บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร 3.บมจ.ปตท. 4.บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น 5.บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ 6.บริษัทสุพรีม โพรดักส์ 7.บริษัทเควี อิเล็คทรอนิกส์ และ 8.บริษัทยานาต้า (ประเทศไทย)

ปัญหาขัดข้องเป็นเรื่องทางเทคนิคล้วน ๆ สำนักงาน BOI ก็อยากให้สิทธิประโยชน์ใจจะขาด แต่ทำไม่ได้

เหตุผลเพราะไม่มีประเภทส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0 ตรง ๆ จำเป็นต้องใช้ทางอ้อม คำสรุปนี้มาจากคำอธิบายของ BOI ที่ว่า ทั้ง 8 ราย “ขอรับส่งเสริมผิดประเภท”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าขอรับถูกต้องตรงกับประเภทที่เปิด option ให้มีบัตรส่งเสริมการลงทุนได้ เอกชนจะได้สิทธิประโยชน์ทางตรง คือ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีบ้าง 8 ปีบ้าง ขึ้นกับประเภทและกิจการ

“ดร.อุตตม” ณ ขณะนั้น เป็น รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นบอร์ด BOI โดยอัตโนมัติ ให้สัมภาษณ์ปลอบขวัญเอกชนว่า ได้พยายามหาทางออกอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้นิ่งนอนใจ

ล่าสุดของล่าสุด “คุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล” กรรมการผู้จัดการโฮมโปร ระบายความอัดอั้นหลังพากเพียรรอ 5 ปี

“รัฐบาลชวนลงทุนและโปรโมตนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผมในฐานะเอกชนทำหน้าที่กองหนุนทางด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่วันนี้อะไร ๆ ที่สัญญาไว้ ยังไม่ได้รับเลย”

ทีมข่าวอุตสาหกรรม “ประชาชาติธุรกิจ” เสาะข้อมูลทางลึกพบว่า มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างแล้ว โดยทางออกมีข้อสรุปและมีมติคณะรัฐมนตรีออกมารองรับอีกครั้งเมื่อเดือนกันยายน 2562

ปลดล็อกสิทธิประโยชน์โรบอต 4.0 ของรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพลังประชารัฐ ในเมื่อขอส่งเสริมการลงทุนทางตรงไม่ได้ ก็อ้อมไปใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีแทนก็แล้วกัน

กรณีโฮมโปร สัญญาใจที่อดีต รมว.อุตสาหกรรมชักชวนไว้ ทอนออกมาเป็นมูลค่าลดหย่อนภาษีเต็มแพ็กเกจ 400 ล้านบาท เป็นเวลา 20 ปี เฉลี่ยหักลดหย่อนปีละ 20 ล้านบาท

เรื่องลดหย่อนภาษีมีการตั้งเรื่องไว้หมดเรียบร้อยแล้ว เอกสารโปรเจ็กต์จ่อรออยู่หน้ากรมสรรพากร หน่วยงานใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ที่มี รมว.คลัง ชื่อ “ดร.อุตตม สาวนายน”

ช่วงเวลาโค้งท้ายปี ได้เวลาให้ของขวัญปีใหม่ด้วยการสะสางนโยบายโรบอต 4.0 ให้จบ และจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งทั้งรัฐและเอกชนค่ะ