มาตรการสั่งให้ระงับ/หยุด การกระทำที่ไม่เป็นธรรมทางการค้า

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้าฯ

 

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีคำสั่งให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระงับการไม่ต่อสัญญาให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสัน จำนวน 7 ราย หลังจากได้พิจารณาคำร้องของตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวแล้วเห็นว่า มีการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นการจำกัด หรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม และมีการเลือกปฏิบัติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือจะฝ่าฝืนมาตรา 57 ของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า รายละเอียดตามที่เป็นข่าวไปแล้ว

เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการใหม่ที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดปัจจุบันได้นำมาใช้เป็นครั้งแรก วันนี้จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังให้ผู้สนใจได้ทราบและเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติ ก่อนที่จะออกเป็นคำสั่งที่มีผลตามกฎหมาย

โดยที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ตามมาตรา 60 ได้กำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบธุรกิจระงับ หยุด การกระทำใด ๆ ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีการฝ่าฝืนหรือจะฝืนมาตรา 50 (การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม)

มาตรา 51 วรรคสอง (การรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด)

มาตรา 54 (การตกลงร่วมกันทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขัน โดยมีผลกระทบต่อระบบตลาดอย่างร้ายแรง)

มาตรา 55 (การตกลงร่วมกันทางธุรกิจที่เป็นการจำกัดหรือลดการแข่งขันที่มีผลกระทบต่อตลาดไม่ร้ายแรง) มาตรา 57 (การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและมีผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น) และมาตรา 58(การร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศดำเนินการให้เกิดการผูกขาดหรือจำกัดการค้าอย่างไม่เป็นธรรม)

เหล่านี้เป็นต้น เจตนารมณ์ที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้าได้กำหนดให้อำนาจคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสามารถออกคำสั่งในลักษณะนี้ได้ เพื่อเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล เนื่องจากเล็งเห็นว่าในการพิจารณาคดีความที่มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการ แต่ละคดีกว่าจะพิจารณาเสร็จสมบูรณ์คงต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร

ดังนั้น การให้อำนาจพิเศษแก่คณะกรรมการ ในการสั่งระงับ หยุด การกระทำที่เชื่อได้ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ย่อมเป็นแนวทางที่ดีที่จะช่วยเยียวยาหรือยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง (ซึ่งเป็นหลักสากลที่ไม่ว่าประเทศใดที่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ก็จะมีการบังคับใช้ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน)

สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาออกคำสั่งของคณะกรรมการ ให้ผู้ประกอบธุรกิจระงับ หยุดการกระทำหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำ ตามมาตรา 60 ของกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีดังนี้

1.ก่อนที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งต้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีการฝ่าฝืนหรือจะฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า มาตรา 50 มาตรา 51 วรรคสอง มาตรา 54 มาตรา 55 มาตรา 57และมาตรา 58

2.ต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจที่จะได้รับการแจ้งคำสั่งมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งมีข้อโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

3.เมื่อคณะกรรมการพิจารณาเห็นแล้วว่าหลักฐานหรือข้อโต้แย้งตามข้อ 2 ไม่มีเหตุผลหรือความน่าเชื่อถือเพียงพอ ก็จะดำเนินการออกคำสั่ง โดยอาจจะกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาเท่าที่จำเป็นก็ได้

ตัวอย่าง เช่น กรณีของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด คณะกรรมการได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า คำสั่งจะมีผลจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนเป็นที่สิ้นสุด หรือเห็นว่าบริษัทนิสสันฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดและแสดงพยานหลักฐานที่สามารถรับฟังได้ด้วยเหตุผลอันชอบธรรมในทางธุรกิจ เป็นต้น

  • คำสั่งของคณะกรรมการถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว ต้องมีโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินหกล้านบาท และปรับอีกในอัตราไม่เกินสามแสนบาทต่อวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่

หากผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับคำสั่งไม่เห็นด้วย สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะช่วยสร้างความชัดเจน

ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าตามที่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการไว้ในมาตรา 60 ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยความมุ่งหวังของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดปัจจุบัน ที่จะธำรงความเป็นธรรมทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และสร้างเสริมระบบการค้าให้มีธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้น หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โทร. 0-2199-5400 หรือเว็บไซต์ www.otcc.or.th