วิกฤต “Covid-19” บทเรียน “ความเห็นแก่ตัว”

Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

 

เป็นปรากฏการณ์ที่ “วิกฤต” อย่างแท้จริงสำหรับวงการธุรกิจท่องเที่ยวโลก รวมถึงประเทศไทยอยู่ในขณะนี้เลยทีเดียวสำหรับการแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19”

เพราะเพียงแค่ประมาณ 1 เดือน โควิด-19 แพร่กระจายจากแหล่งกำหนดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ไปยังเมืองต่าง ๆ ของจีน รวมถึงประเทศใกล้เคียงกระทั่งลามไปอีกฟากหนึ่งของโลก

Advertisment

เรียกว่า ไม่มีใครคาดคิดว่าการแพร่ระบาดจะกระจายไปได้รวดเร็วและหนักขนาดนี้

หนักขนาดหลายประเทศต้องออกประกาศเตือนพลเมืองของตัวเองให้ชะลอการเดินทางท่องเที่ยว หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางก็ต้องระมัดระวัง และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

สำหรับประเทศไทย นอกจากจะได้รับผลกระทบนักท่องเที่ยวต่างชาติหยุดการเดินทางจากทุกภูมิภาคแล้ว สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในช่วงครึ่งปีแรกนี้ น่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

ในจำนวนนี้น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนราว 3 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ อีกราว 2 ล้านคน

Advertisment

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้หากมองอีกมุมหนึ่ง การที่นักท่องเที่ยวหยุดการเดินทางก็เป็นผลดีต่อมวลมนุษยชาติ เพราะการหยุดเดินทางนั้นถือเป็นการ “หยุด” การแพร่ระบาดของไวรัสได้เป็นอย่างดี

เพราะการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการติดจากคนสู่คน จาก 1 คนที่ไปท่องเที่ยว กลับมาแพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัว จากนั้นคนในครอบครัวนำไปแพร่ระบาดต่อ ทำให้การระบาดแพร่กระจายข้ามภูมิภาคได้ในช่วงเวลาแค่ข้ามคืน

ยกตัวอย่าง กรณีเกาหลีใต้ที่พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ จำนวนผู้ติดเชื้อกว่าครึ่งหนึ่งได้รับมาจากอาจูม่าที่ไปโบสถ์ จนทุกคนให้ฉายาว่า “อาจูม่ามหาภัย” หรือ super spreader

หรือใกล้ตัวเรานิดหนึ่ง คือ กรณีของปู่-ย่า ย่านดอนเมือง ที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเสี่ยง กลับมาเป็นไข้และไม่ยอมปฏิบัติตัวตามระเบียบของสาธารณสุข และปกปิดข้อมูล สุดท้ายกลายเป็น super spreader โดยไม่รู้ตัว เพราะทำให้ลูกหลานติดเชื้อไปด้วย

ที่สำคัญ ยังส่งผลกระทบไปถึงองค์กรอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงานของลูก โรงเรียนของหลาน และก็ไม่รู้ว่า ทั้งลูกและหลานของตัวเองได้แพร่เชื้อต่อไปให้คนรอบข้างอีกมากน้อยแค่ไหน

ในมุมมองของผู้เขียนเองว่า การเกิดของ super spreader นี้เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความมักง่าย และความเห็นแก่ตัวของคนเราได้ชัดเจน และดีที่สุด

ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเพื่อนฝูงหลายคนโทร.มาปรึกษาเยอะมากว่า ซื้อทัวร์เที่ยวต่างประเทศไปแล้ว จะทำอย่างไรดี …และอีกหลายต่อหลายประเด็นคำถาม แม้ว่าจะเห็นข่าวที่องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งออกประกาศว่า ห้ามไม่ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ เดินทางไปในประเทศเสี่ยงแล้วก็ตาม

เมื่อแนะนำให้ยกเลิกการเดินทางไปเลยดีที่สุด ก็จะมีคำถามว่า ฉันจ่ายเงินไปแล้วจะขอคืนได้ไหม ทำอย่างไรถึงจะได้เงินคืน และทำไมสายการบินไม่ยอมให้เลื่อนการเดินทาง ฯลฯ

จุดนี้พอเข้าใจได้ เพราะบริษัททัวร์ส่วนใหญ่ก็จะไม่คืนเงินลูกทัวร์อยู่แล้ว หากบอกยกเลิกการเดินทางกะทันหัน ยกเว้นบอกล่วงหน้าเกิน 15 วันก่อนเดินทาง อาจได้คืนบางส่วน สุดท้ายเสียดายเงินที่จ่ายไปแล้ว จึงยังคงเดินทางตามโปรแกรมเดิม…โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา ว่าคุ้มหรือไม่

และยังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจชีวิต ถามว่า ถ้าเราไปเราจะรอดกลับมาไหม ? คือ รู้ทั้งรู้ว่าเสี่ยง แต่ก็ยังอยากไป แบบนี้แหละเรียกว่า คนเห็นแก่ตัว มักง่าย และไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง

ขณะที่อีกหลายคนก็เข้าใจในภาวะวิกฤต และยอมทิ้งแพ็กเกจทัวร์ ตั๋วเครื่องบินที่ซื้อไว้แบบนี้เรียกว่ารักตัวเองและแคร์คนรอบข้างไม่ให้ได้รับผลกระทบ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นด้วยกับคนที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ แต่มองว่าหากยกเลิกได้ก็ควรยกเลิก ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางจริง ๆ ผู้เดินทางนั่นแหละที่จะต้องรู้ว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ทั้งก่อนและหลังการเดินทาง เพื่อไม่ให้สังคมรอบข้างเดือดร้อน และไม่สร้างปัญหาให้สังคมส่วนรวม