ไม่ใช่แค่หน้ากากอนามัยที่ขาด

ชั้น 5 โดย กษมา ประชาชาติ

 

หลายคนคงเคยเห็นรูปแมวมอมแมมตลกร้ายบนโซเชียล ที่มีข้อความบรรยายใต้ภาพว่า “ถ้าใจเราสะอาด..ไม่ต้องอาบน้ำก็ได้”

วลีนี้คล้ายกับช่วงแรกของปัญหาการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยที่ประชาชนถูกสะกดจิตว่า “หน้ากากอนามัยไม่ขาดตลาด” แต่แท้จริงแล้ว “หน้ากากอนามัยขาดตลาด” 

ข้อมูลปรากฏชัดว่า ไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 11 โรง ผลิตเต็มที่ 100% ได้ 36 ล้านชิ้นต่อเดือน ไม่เพียงต่อความต้องการของคนไทยทั้งประเทศ 60-70 ล้านคน หากใช้ทุกคนวันละ 60-70 ล้านชิ้นต่อวัน หรือ 180-210 ล้านชิ้นต่อเดือน  

Advertisment

ตามหลัก “กลไกตลาด” เมื่อซัพพลายน้อย-ดีมานด์มาก ผลคือ ราคาสูง นำไปสู่ปรากฏการณ์ราคาหน้ากากอนามัยจากชิ้นละ 2.50 บาท แพงทะลุไปถึงหลักสิบ หลักร้อย และหายากดังทองคำ

การแก้ปัญหาของกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งถือดาบตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่ให้อำนาจรัฐแทรกแซงในช่วงที่ไม่อาจจะปล่อยให้กลไกตลาดทำงานปกติ นำมาสู่การขึ้นบัญชีหน้ากากอนามัยเป็น “สินค้าควบคุม” เปิดทางให้สามารถ
ออก “มาตรการดูแล” เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 

ไทม์ไลน์การกำหนดมาตรการดูแลเริ่มจากบังคับให้ผู้ถือครองหน้ากากอนามัย 500 ชิ้น แจ้งปริมาณ สถานที่จัดเก็บ โครงสร้าง ราคาต้นทุน ก่อนจะยกระดับเป็นบังคับให้ผู้ส่งออกต้องขออนุญาตและปันส่วนที่ผลิต
ได้มาขายในประเทศ 50 : 50  และตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย” ที่ได้รับปันส่วนมา 30% แต่ที่เหลืออีก 70% เป็นไปตามคำสั่งซื้อปกติ 

“ศูนย์จะแมตช์ข้อมูลระหว่างผู้ใช้ ผู้ผลิตว่ามีเท่าไร ก่อนส่ง โดยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขรับหน้าที่รวบรวมความต้องการในส่วนโรงพยาบาลในสังกัดจากนั้นให้โรงงานนำหน้ากากไปส่งมอบและรับชำระเงิน เพื่อให้เงินไม่ต้องผ่านมือกระทรวงพาณิชย์ ส่วนพาณิชย์ทำหน้าที่กระจายให้ค้าปลีกเท่านั้น”

Advertisment

ผลคือการบริหารจัดการยังไม่เวิร์ก มิหนำซ้ำมีการโก่งราคาหน้ากาก บนโซเชียลอย่างครึกโครม นำมาสู่ข้อถกเถียงว่า ควร “จำกัดการถือครอง” ให้คนละกี่ชิ้น เพื่ออุดช่องการเวียนเทียนนำไปขายในโซเชียล 

แต่ยิ่งแก้ยิ่งขาดหนัก “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ จึงเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง และ 11 โรงงาน ในเย็นวันที่ 3 มี.ค. 63 ก่อนจะประชุม กกร. วันที่ 4 มี.ค. 63 เล่นบทโหดกุมอำนาจบริหารหน้ากากอนามัยแบบเบ็ดเสร็จไว้ใน “ศูนย์กระจายและบริหารจัดการกระจายหน้ากากอนามัย” และบังคับขายไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ประจำโรงงานตรวจสอบการผลิต รายงานสถานการณ์เรียลไทม์ และจัดรถโมบายช่วยขายหน้ากาก 111 คันทั่วไทย

ศูนย์ดังกล่าวประกอบด้วย ตัวแทนกรมการค้าภายใน กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทน รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร รพ.ท้องถิ่นรพ.สังกัดมหาวิทยาลัย รวมถึงกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นับ 10 หน่วยงาน แต่ใช้หลักบริหารจัดการเดียวกับช่วงแรกและไม่ได้แจงตัวเลขว่าใครได้เท่าไร

ฟางเส้นสุดท้ายในใจประชาชน คือ บุคลากรทางการแพทย์ประกาศขอรับบริจาคหน้ากากทางโซเชียลมีเดีย สังคมตั้งคำถามถึง “การจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการและความโปร่งใสในการดำเนินงานที่ไม่เพียงบิดเบือนกลไกตลาด แต่ยังบกพร่องรุนแรง”  

กระทรวงพาณิชย์สมควรจะถูกตำหนิในฐานะผู้รับผิดชอบเบอร์ 1 แต่งานอื่นในองค์คณะก็ควรมีส่วนถูกตำหนิด้วยเช่นกัน เหตุใดรับหน้าที่จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์แต่ไปไม่ถึง  และที่สำคัญรัฐควรโฟกัสปัญหาหลัก คือ การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกช่องทางทุกอุปกรณ์ 

ตัวอย่างแค่เรื่องหน้ากากอนามัยผ้า ที่ทำง่าย-รวดเร็วที่สุด ไม่ต้องอาศัยงบฯ ประชาชนสามารถประยุกต์ใช้ผ้าบางชนิดที่มีในครัวเรือนมาตัดเย็บให้ตัวเอง และครอบครัว ทั้งยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย แต่มาตรการนี้กลับล่าช้า

การแก้ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่แค่การบริหารจัดการหน้ากากฯ แต่หาก คือ “การบริหารจัดการความขาดแคลน” ซึ่งมีทั้ง “การขาดน้ำและอากาศบริสุทธิ์” ปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่ประชาชนต้องได้รับ แต่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกทั้งภัยแล้ง และฝุ่น PM 2.5  

ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่สะสมเป็นชนวนเหตุความสิ้นหวัง และวลียอดฮิต #ผนงรจตกม.