อาวุธสู้โควิด…จากไลน์ผลิตรถ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย อมร พวงงาม

นึกไม่ถึงว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีอานุภาพรุนแรง

และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนธุรกิจอย่างสาหัสสากรรจ์

นักธุรกิจหลายคนบอกวิกฤตนี้หนักหนากว่า แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส หรือต้มยำกุ้ง ซะอีก

และที่สำคัญ ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ?

แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นการปรับตัวอย่างหลากหลาย

รวมถึงโอกาสทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็น ค้าออนไลน์ ดีลิเวอรี่ ฯลฯ

แต่มีอีกสิ่งที่น่าปรบมือรัว ๆ นั่นคือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ ที่ใช้จังหวะประกาศ “ปิดโรงงานชั่วคราว” แบบไม่เสียเปล่า

พลิกไลน์ผลิตรถยนต์เปลี่ยนมาโหมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้เจ้าไวรัสร้าย

เริ่มจากประเทศจีน ต้นกำเนิดไวรัสโควิด-19

ค่าย “บีวายดี” โละไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในโรงงานที่เสิ่นเจิ้น ตั้งเครื่องจักรใหม่ผลิตหน้ากากและยาฆ่าเชื้อ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังผลิตประมาณ 5 ล้านชิ้น และยาฆ่าเชื้ออีก 5 หมื่นขวดต่อวัน

ค่าย GAC MOTOR ผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ก็ตัดสินใจเปิดสายการผลิตหน้ากากอนามัยในโรงงานตัวเองคาดกันว่าจะมีโปรดักต์ออกจากไลน์ผลิตไม่น้อยกว่า 550,000 ชิ้น เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญให้หมอ-พยาบาล

ส่วนในสหรัฐอเมริกาซึ่งตอนนี้แซงขึ้นเบอร์หนึ่งผู้ติดเชื้อเยอะสุด

กลุ่มบิ๊กทรี ทั้งฟอร์ดและจีเอ็ม ประกาศตอบรับข้อเสนอของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

หยุดผลิตรถยนต์ หันมาประกอบเครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน

รวมถึงร่วมมือพาร์ตเนอร์ ทั้ง 3 เอ็ม และยีอี ผลิตพัดลมระบายอากาศเพิ่มเติมด้วย

เช่นเดียวกับเทสล่า เจ้าพ่อรถยนต์ไฟฟ้า ก็ขอพักไลน์ผลิตของตัวเองชั่วคราว

เสริมทัพค่ายบิ๊กทรีช่วยผลิตเครื่องช่วยหายใจอีกแรง

ไม่เว้นแม้แต่โตโยต้า สั่งเบรกการผลิตรถยนต์ หันมาลุยทำหน้ากากอนามัย

จนทำให้ในอเมริกามีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยมากมายหลายล้านชิ้น

บ้านเราก็ไม่น้อยหน้า เริ่มจากค่ายฮอนด้า

โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าแห่งประเทศไทย

ใช้จังหวะปิดโรงงานผลิตชั่วคราว หันมาสนับสนุนรัฐบาล

ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

เพื่อสู้วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยประสานความร่วมมือโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

ตั้งทีมเฉพาะกิจเปิดสายการผลิตในโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ จำนวน 100 เตียง

ขณะที่ฟอร์ดประเทศไทย ก็ใช้อาสาสมัครพนักงานฟอร์ดร่วมผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้า 100,000 ชิ้น

โดยระบุว่า ในอเมริกา ฟอร์ดได้ผลิตและส่งมอบหน้ากากป้องกันใบหน้าแล้วกว่า 1 ล้านชิ้น เมื่อสัปดาห์ก่อน

ซึ่งความสามารถทำเฟซชิลด์ของฟอร์ด สามารถทำได้ 1 ชิ้น ในทุก ๆ 10 วินาที

ดังนั้น โรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด (เอฟทีเอ็ม)

และออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (เอเอที) ในจังหวัดระยอง

ซึ่งประกาศหยุดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2563

จะเดินเครื่องทำเฟซชิลด์ ป้อนให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างจริงจังไม่ต่างจากบางค่ายเลือกสนับสนุนด้วยวิธีอื่น

เช่น โตโยต้า สนับสนุนรถยนต์ สิ่งของจำเป็น ข้าวสารอาหารแห้งแก่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือบุคลากรทางด้านสาธารณสุข

คิดเป็นมูลค่ากว่า 66 ล้านบาท

ขณะที่ ฮอนด้า ยังได้ประสานกำลังจิตอาสาพนักงาน และภาคส่วนต่าง ๆอาทิ กรมราชทัณฑ์ ร่วมผลิตและส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนอื่น ๆ ให้โรงพยาบาล 48 แห่งทั่วประเทศ

มอบรถพยาบาล 10 คัน ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ

โดยทุกบริษัทระบุตรงกันว่า “เราจะต่อสู้และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน”