เราจะผ่านไปด้วยกัน

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เป็นอย่างไรบ้างครับ…ท่านผู้อ่านผู้ประกอบการธุรกิจทุกท่าน ก่อนอื่นผมขอส่งกำลังใจและความห่วงใยให้กับท่าน ครอบครัว และพนักงานของท่าน อีกทั้งคนไทยทุกคน ให้เราได้ผ่านพ้นวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ได้ในเร็ววัน

วิกฤตในครั้งนี้สาหัสเหลือเกิน จากข้อมูลของฝ่ายวิจัยกรุงศรีล่าสุด ได้คาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลดลงอีก จากติดลบ 0.8% เป็นติดลบ 5.0% ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1998 และเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ในเวลาไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งก็ตามมาด้วยคำถามว่า แล้วผู้ประกอบการธุรกิจจะทำอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นได้ในสถานการณ์เช่นนี้

หลาย ๆ ผู้รู้ก็พูดตรงกันเป็นเสียงเดียวก็คือ การพยายามหาเพิ่มช่องทางการขายใหม่ทดแทน ไม่ว่าจะเป็นช่องทาง online ร่วมกับการขายแบบ delivery การบริหารหรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นก็ว่ากันไป แต่นั่นเป็นเพียงการแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งบางทีก็อาจจะไม่เพียงพอในสถานการณ์รุนแรงเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการร่วมด้วยช่วยกันไปทั้งระบบ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน

ทั้งนี้ ล่าสุดแต่ละธนาคารรวมทั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยาเองก็พร้อมร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของแต่ละธนาคาร โดยเข้าร่วมกับ ธปท.ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน แก่ลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

และมาตรการให้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง (soft loan) แก่ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยสามารถกู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นปี 2562 ในอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี และไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งลูกค้ากรุงศรีเองก็สามารถติดต่อผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ที่ดูแลท่านเพื่อสอบถามรายละเอียดมาตรการต่าง ๆ ได้ครับ

ผมเชื่อว่าถ้าเราร่วมด้วยช่วยกัน วิกฤตในครั้งนี้เราจะผ่านมันไปได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐที่ต้องมีมาตรการป้องกันการระบาดที่มีประสิทธิภาพ การช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบและภาคธุรกิจที่ต้องพยายามประคับประคองตัวเอง ดูแลคู่ค้า ดูแลพนักงานไปจนถึงในเรื่องความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยให้มีการทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home และการดูแลลูกค้าในเรื่องความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในการใช้บริการ

สุดท้ายคือ ภาคประชาชนที่จะต้องดูแลตัวเองให้ดี มีวินัยในเรื่อง social distancing, การใส่หน้ากากอยู่เสมอ, กินร้อน ช้อนกลาง, การเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเมื่อมีความเสี่ยงการช่วยเหลือหรือสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ตามกำลัง ทั้งหมดนี้จะช่วยให้พวกเราและประเทศไทยของเรารอดพ้นจากวิกฤตนี้ได้ และขอขอบคุณจากใจเป็นอย่างสูงแก่เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญที่คอยช่วยให้พวกเราฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้

มีคำกล่าวว่า “ในวิกฤตมักมีโอกาส” ผมเชื่อว่าในวิกฤตนี้สร้างโอกาสให้เราได้เรียนรู้โอกาสใหม่ของธุรกิจ ได้เรียนรู้ว่าโลกของเรานี้ได้เปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ และโลกของเราช่างเปราะบางเหลือเกิน ธุรกิจของเราแท้จริงแข็งแรงแค่ไหน ในอนาคตอาจมีไวรัสตัวใหม่ที่รุนแรงกว่ามาทดสอบภูมิคุ้มกันของพวกเรา หรือภูมิคุ้มกันธุรกิจของเรา

ดังนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้เป็นผู้อยู่รอดในโลกแห่งอนาคตที่พร้อมจะท้าทายเรา