โควิดดันสู่ ‘ชีวิตดิจิทัล’ ไทยหรือ ‘ใคร’ ได้ประโยชน์

ภาพ : Gerd Altmann จาก pixabay.com/th/

ชั้น 5 ประชาชาคิ

สร้อย ประชาชาติ

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ก้าวสู่ “ชีวิตดิจิทัล” รวดเร็วขึ้น แม้กระทั่งเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมาถึงในอีกปี 2 ปีอย่าง “5G” ก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลอีโคโนมีได้เต็มตัวอย่างที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 4.0 มาจะ 6 ปีแล้ว

ณ เวลานี้ สั่งอาหารก็กดแอป ซื้อของก็กดแอป จะบันเทิงหรือทำงาน work from home ก็กดแอป

แต่มองให้ดี ๆ ว่า ปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น “ใคร” ได้ประโยชน์จากจุดนี้ ผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านั้น ได้รับการแบ่งสรรปันส่วนประโยชน์จาก “ชีวิตดิจิทัล” ที่เกิดขึ้นแค่ไหน

ง่าย ๆ ลองนึกให้ดี ๆ ว่า นอกจากแอปพลิเคชั่นของ “ธนาคาร-บัตรเครดิต”แล้ว ในแต่ละวันได้กดใช้แอปพลิเคชั่นไหนที่เป็นของผู้ประกอบการไทยบ้าง ถ้าในส่วนของผู้เขียนก็จะมีแค่แอปพลิเคชั่นของโรงพยาบาลศิริราช ที่ใช้งานเดือนละครั้ง, ทรูไอดี ที่ใช้เดือนละไม่กี่ครั้ง มีแค่นี้จริง ๆ

แม้แต่ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมอย่าง “เอไอเอส” ก็ตระหนักถึงความน่ากังวลนี้ โดย “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ ได้ชี้ถึงประเด็นนี้ว่า โควิดทำให้ดิจิทัลไลเซชั่นเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่คนไทยจะตายกันหมด เพราะที่ใช้เพิ่มกันเยอะ ๆ มีแต่ youtube grab line Lazada shopee zoom ฯลฯ ไม่มีของคนไทยเลย ฉะนั้นประโยชน์สูงสุดจึงไปตกกับต่างชาติ

ดังนั้น หนึ่งในภารกิจที่บิ๊กบอสเอไอเอสมอบหมายให้ทีม AIS Next ที่เป็นมันสมองด้านนวัตกรรมเร่งทำในปีนี้ คือ การพัฒนาซูเปอร์แอป ที่ตีโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้แตก

“เราไปโทษผู้บริโภคไม่ได้หรอก ต้องโทษตัวเองที่ยังไม่เก่งพอ ยังทำให้แอปเราใช้ไม่ง่ายพอ ไม่มั่นใจเรื่องซีเคียวริตี้ที่จะมาใช้งาน รวมถึงไม่มีอีโคซิสเต็มเพียงพอ”

และไม่ใช่แค่เอกชน แม้แต่หน่วยงานรัฐอย่าง “กสทช.” เลขาธิการ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ก็ย้ำในประเด็นนี้ พร้อมส่งเสียงดัง ๆ ให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญ

โดยย้ำว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้กำลังเข้ายึดประเทศ แต่เป็นการล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี ผ่านบริการ OTT (over the top) หรือการให้บริการออนดีมานด์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเศรษฐกิจยุคใหม่ล้วนขับเคลื่อนผ่าน OTT ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา อะเมซอน เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก แกร็บ ไลน์ เท่ากับว่าเงินที่อัดฉีดเข้าไปจากการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด ถ้าเจาะดูดี ๆ อาจจะไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ผ่าน OTT

ฉะนั้นในภาวะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเข้าสู่ชีวิตดิจิทัลเต็มตัว รัฐบาลจึงควรปรับตัวให้ทัน

“ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องมีแพลตฟอร์ม OTT เป็นของตัวเองหรือที่เรียกว่า National OTT Platform ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านก็มีแล้วอย่าง อินโดนีเซียก็มี Go-Jek ซึ่งนอกจากเป็นช่องทางหารายได้ให้คนในประเทศ ยังสกัดไม่ให้เงินรั่วไหลไปนอกประเทศ”