กู้วิกฤตการบินไทยก่อนสายเกินแก้

บทบรรณาธิการ

หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จะถูกบรรจุเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 พ.ค. 2563 เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน และกำลังเป็นที่สนใจ ถือเป็นนัดชี้ชะตาอนาคตสายการบินแห่งชาติที่มีสารพัดปัญหารุมเร้า สถานะย่ำแย่ มีหนี้สินกว่า 2.4 แสนล้านบาท

การบินไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่สาธารณชนต้องการคำตอบ แต่ที่หลายฝ่ายคับข้องใจและเคลือบแคลงสงสัย คือ เพราะเหตุใดรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน ทั้งที่รู้ดีถึงปัญหา ทำให้เรื่องบานปลายเกิดความเสียหายรุนแรง ชื่อเสียงภาพลักษณ์การบินไทยในฐานะรัฐวิสาหกิจชั้นดี ติดลบทั้งในสายตาคนทั่วไป นักธุรกิจ นักลงทุน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจเป็นวิกฤตใหญ่ที่เข้ามาซ้ำเติม ฉุดรายได้ ยอดขายที่ดิ่งลงอยู่แล้วให้ติดลบหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องหยุดบิน ยกเลิกเส้นทางบินจำนวนมากทั้งในประเทศ ต่างประเทศจากสถานการณ์โควิด กลายเป็นตัวเร่งทำให้ต้องเร่งผ่าตัดใหญ่ บมจ.การบินไทย ก่อนจะโคม่ายิ่งกว่านี้

ภายใต้แผนฟื้นฟู นอกจากกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% ลดบทบาทจากการเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 1 เป็นประเภท 2 แล้ว จะต้องรื้อโครงสร้างองค์กร แยกหน่วยธุรกิจตั้งบริษัทลูกดำเนินการในลักษณะโฮลดิ้ง ปรับลดคน สวัสดิการ ปรับเปลี่ยนเส้นทางการบิน แผนการตลาด อัตราค่าโดยสาร ฝูงบิน ฯลฯ พร้อมดึงมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นบอร์ด รวมทั้งนั่งบริหาร

Advertisment

ขณะเดียวกันเพื่อพยุงสถานะการเงิน สภาพคล่อง จำเป็นต้องกู้ฉุกเฉินกว่า 5 หมื่นล้านบาท รองรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงถึงเดือนละ 10,000 ล้านบาท ส่วนแผนระยะยาวต้องขอเพิ่มทุนราว 8 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 2.56 หมื่นล้านบาท หนี้สินรวม 2.44 ล้านบาท รายได้อยู่ที่ 1.88 แสนล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท สำหรับ 6 เดือนแรกปีนี้คาดว่าจะขาดทุน 1.8 หมื่นล้านบาท

แผนกู้วิกฤต ปลุกชีพการบินไทย จะเป็นไปในทิศทางใด สัมฤทธิผลเหมือนกับที่หลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่ นอกจากต้องจับตาว่า ครม.จะเคาะไฟเขียว ยังขึ้นอยู่กับคนในองค์กรด้วยว่าจะผนึกกำลังรวมใจกันกอบกู้สถานะการบินไทยให้พลิกฟื้นคืนกลับมาดังเดิมหรือไม่ เพราะล่าสุดสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเริ่มเคลื่อนไหวแสดงจุดยืน สนับสนุนการฟื้นฟู แต่คัดค้านการแปรรูป

สารพัดปมกำลังเป็นเผือกร้อนที่รัฐบาลต้องรีบตัดสินใจแข่งกับเวลา ท่ามกลางแรงกดดัน กับวิกฤตที่มีรอบด้านก่อนจะสายเกินแก้