ระดมมืออาชีพฟื้น “การบินไทย” ก๊อก 2 ขอเพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน

การบินไทย

“ประยุทธ์” เดิมพันกู้ฉุกเฉินกว่า 5 หมื่นล้าน ฟื้นการบินไทย พยุงสภาพคล่อง 5 เดือน ประเดิม พ.ค.นี้ 9 พันล้าน รื้อโครงสร้างบริษัท-คน-สวัสดิการ-เส้นทาง-ราคา-ฝูงบิน บุกตลาด ตปท. ปั้น “ไทยสมายล์” สู้ศึกโลว์คอสต์ ก๊อกสองเพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ชำระหนี้หลังโควิด-19 ปรับสัดส่วนหุ้นคลังเหลือไม่ถึง 50% ลดสถานะรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกสหภาพ ทาบ “เทวินทร์-ชาติชาย” นั่งบอร์ด

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 พ.ค. 2563 ยังไม่ได้พิจารณาแผนฟื้นฟู บมจ.การบินไทย เนื่องจากต้องการให้มีการชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ให้ชัดเจนมากขึ้นก่อน

โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่จะพิจารณาแผนฟื้นฟูองค์กรแห่งนี้ เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมาพยายามที่จะฟื้นฟูให้ได้มาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ยาก เพราะต้องปรับทั้งโครงสร้างองค์กรและบุคลากรต่างๆ จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน โดยเฉพาะสหภาพของการบินไทย ถ้าสหภาพไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตามแผน จะทำให้เกิดปัญหาและจะยิ่งลำบากกันมากกว่านี้ ในแผนฟื้นฟูมีระบุเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามประมาณ 10 ข้อ

เสนอ ครม.เคาะ 12 พ.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากขณะนี้การเสนอเรื่องแผนการฟื้นฟู บมจ.การบินไทย ตามมติ คนร. ยังไม่เรียบร้อย จึงยังไม่มีการเสนอเข้าที่ประชุม ครม. โดยคาดว่าจะสามารถเสนอ ครม.ได้ในวันที่ 12 พ.ค. เพื่อให้ ครม.อนุมัติการแก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้าให้แก่การบินไทย และเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ระยะ 5 ปี (ปี 2563-2567) ต่อไป

“เนื่องจากการบินไทยมีผลขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี และให้ความเห็นชอบเสนอ ครม.ปรับแผนบริหารหนี้ ปีงบประมาณ 2563 ต่อไป สำหรับวงเงินค้ำประกันนั้น การบินไทยเสนอมา 7 หมื่นล้านบาท แต่มติ คนร.ให้ดูตามความจำเป็น เพราะถ้าสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ก็อาจจะไม่ถึง ดังนั้น วงเงินค้ำประกันก็น่าจะอยู่ระหว่าง 5-7 หมื่นล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เมื่อกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด เนื่องจากสามารถเปลี่ยนไปขอกู้เงินจากธนาคารออมสินมาไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ แต่การบินไทยจำเป็นต้องผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ เนื่องจากปัญหาใหญ่คือ ต้นทุนค่าจ้างพนักงาน ต้นทุนค่าซ่อมบำรุง เนื่องจากเครื่องบินที่มีราว 70 ลำนั้น เกินกว่าครึ่งใช้วิธีเช่าซื้อ

ตั้ง “โฮลดิ้ง” บริหารคล่องตัว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ข้อเสนอที่หารือกันใน คนร.จะปรับโครงสร้างการบินไทยให้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ “โฮลดิ้ง” โดยมีเพียง บมจ.การบินไทยที่เป็นบริษัทแม่ และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เท่านั้น ขณะที่บริษัทลูกจะมี 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ฝ่ายครัวการบิน 2.บริษัท บริการภาคพื้น 3.บริษัท คลังสินค้า 4.บริษัท ฝ่ายช่าง และ 5.สายการบินไทยสมายล์

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลายเป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่ 3 จากเดิมอยู่กลุ่มที่ 1 และจะมีผลทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสิ้นสถานะลงไปด้วย

“การบินไทยจะเป็นโฮลดิ้ง เหมือนกับเครือปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG ที่การบริหารจะคล่องตัวมากกว่า พวกบริษัทลูกก็ไม่ต้องอยู่ในตลาดหุ้น อย่างไรก็ดี สถานะการบินไทยก็ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่สัดส่วนการถือหุ้นต่าง ๆ จะเปลี่ยนไป โดยกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% และให้หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เข้ามาถือมากขึ้น อาทิ กองทุนรวมวายุภักษ์ เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว

ทาบ “เทวินทร์-ชาติชาย” นั่งบอร์ด

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาลมีแนวคิดจะดึงอดีตผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่มีฝีมือเข้าไปร่วมแก้ปัญหา โดยคาดว่าจะมีการทาบทามให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการการบินไทยชุดใหม่ เพื่อทำงานเชิงรุก อาทิ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอ บมจ.ปตท., นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ที่กำลังจะครบวาระผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นต้น รวมถึงมือดีคนอื่น ๆ

แหล่งข่าวกล่าวว่า การแก้ปัญหาการบินไทยจะเริ่มจากการดำเนินการภายใต้กฎหมาย คนร.ไปก่อน แต่หากถึงที่สุดแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะต้องเข้าสู่กฎหมายล้มละลายต่อไป

ขอกู้ฉุกเฉิน 5 เดือน 5 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า หัวใจฟื้นฟูการบินไทย คือ เงิน คน เส้นทาง เครื่องบิน และการจำหน่ายตั๋ว ที่จะต้องบูรณาการใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างรายได้และลดปัญหาการขาดทุน ซึ่งการบินไทยประเมินหากดำเนินการตามแผนที่เสนอ จะทำให้ในปี 2564 บริษัทจะไม่มีผลประกอบการขาดทุน

สำหรับแผนฟื้นฟูที่การบินไทยเสนอ เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ จะขอกู้ฉุกเฉินระยะสั้น 5-7 หมื่นล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินสดและใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ในช่วง 5 เดือน นับจากเดือน พ.ค.-ก.ย. 2563 หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ขาดรายได้

“การบินไทยจะทยอยกู้เป็นรายเดือนตามค่าใช้จ่าย เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ค.เตรียมจะขอกู้ประมาณ 9,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายภายในองค์กร”

รื้อราคาตั๋ว-ลดคน-เส้นทาง

แหล่งกล่าวกล่าวอีกว่า แต่ในระหว่างนี้การบินไทยต้องมีการบริหารจัดการไปพร้อมกันด้วย เช่น เจรจายืดการชำระหนี้วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทกับเจ้าหนี้ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน การลดค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ปรับลดคนให้เหมาะสมกับโครงสร้างใหม่ จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 20,000 คน โดยจะเปิดให้มีการลาออกแบบสมัครใจ ปรับลดสวัสดิการ ปรับปรุงระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารขายผ่านออนไลน์ และปรับโครงสร้างราคาใหม่ให้เป็นมาตรฐาน ราคาถูกลงให้ใกล้เคียงราคาตลาด

รวมถึงการปรับเส้นทางการบินใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก โดยการบินไทยจะบินระหว่างประเทศและเน้นเส้นทางที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก จะปรับบทบาทเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของการบินไทย จะบินเส้นทางในประเทศอย่างเดียว เพื่อแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ

ล้มแผนซื้อฝูงบินใหม่

ขณะเดียวกันจะมีการปลดระวางและกำหนดขนาดเครื่องบินใหม่ให้ตอบโจทย์การเดินทาง เนื่องจากพฤติกรรมการเดินทางทั่วโลกเปลี่ยนไป เช่น เครื่องบินที่ใช้งานมานาน หรือบินในเส้นทางที่ไม่มีกำไร ก็ให้ปลดระวางเร็วขึ้น ส่วนเครื่องบินลำใหญ่ต่อไปจะไม่มีความจำเป็นในการเดินทางอีกต่อไปแล้ว และเปลี่ยนจากซื้อมาเป็นการเช่าแทน ซึ่งในแผนเดิมการบินไทยจะเสนอซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท จะชะลอไว้ก่อน และพิจารณาการเช่าแทน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หลัง ครม.อนุมัติแผนฟื้นฟู จะต้องให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย ให้น้อยกว่า 50% ให้กองทุนวายุภักษ์และธนาคารออมสินมาถือหุ้นมากขึ้น

เนื่องจากต้องการลดบทบาทการเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทย จากประเภท 1 เป็นประเภท 2 กลุ่มเดียวกับ ปตท.สผ. บริษัทลูกของ ปตท. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

ก๊อกสองเพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับแผนระยะยาว การบินไทยจะขอเพิ่มทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 ล้านบาท อีก 30,000 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายในการปรับการบริหารจัดการภายในองค์กร เพื่อเดินหน้าธุรกิจในระยะต่อไปหลังจากสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งการขอเพิ่มทุนจะต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย

เช่นเดียวกับแผนการแปลงสภาพการบินไทยเป็น “โฮลดิ้ง” ถือหุ้นในบริษัทลูกจะตั้งแยกออกจากการปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ โดยจะเน้นธุรกิจที่มีกำไรเป็นหลัก เช่น ครัวการบิน และธุรกิจคลังสินค้า เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สถานะของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท หนี้สินรวม 244,899.44 ล้านบาท รายได้รวม 188,954.45 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท มีเงินสด 21,663 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการปี 2563 ประเมินว่าช่วง 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2563 จะประสบปัญหาขาดทุน 18,038 ล้านบาท และเริ่มมีกระแสเงินสดติดลบตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป

“อุตตม” ยันคลังหุ้นใหญ่ การบินไทย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณี บมจ.การบินไทย ค้ำประกันเงินกู้ว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมเงื่อนไขที่ บมจ.การบินไทย ต้องดำเนินการมีอะไรบ้างที่จำเป็น ทำแล้วจะนำไปสู่การฟื้นฟู บมจ.การบินไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ระบบการขายตั๋ว การดูแลบุคลากร และการจัดซื้อ และเงื่อนไขพิเศษนอกเหนือจากแผนฟื้นฟู 5 ปีที่ผ่านมา

“วันนี้เป็นเวลาสำคัญ บมจ.การบินไทยก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนธุรกิจอื่น ๆ แต่ยอมรับว่าการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนมาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโอกาสร่วมกันที่จะแก้ปัญหาเพื่อครั้งนี้จะเรียบร้อยที่สุด ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างการบินไทย แต่ยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ กระทรวงการคลังยังถือหุ้นใหญ่ ส่วนการค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาท เป็นเพียงการเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถไปเจรจากับเจ้าหนี้ ผู้ให้เช่าเครื่องบินได้ เมื่อเจรจาแล้วน่าจะทำได้ส่วนหนึ่ง วงเงินค้ำประกันที่ขอมาอาจจะไม่ถึง 50,000 ล้านบาทก็ได้”