โอกาสตลาด “เวียดนาม” ขยายตัวสูงสุดในอาเซียน 5 ปีซ้อน

ตลาดเวียดนาม
Vietnamese flag is seen as vegetable vendors wait for customers at a wholesale vegetable and fruits market in Hanoi at dawn on June 7, 2019. (Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)
คอลัมน์ นอกรอบ
ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เวียดนามเป็นประเทศที่ขยายตัวอย่างสูงที่สุดในเอเชียช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.8% ต่อปี และที่สำคัญคือ คาดว่าจะเป็นประเทศที่มีการขยายตัวกลุ่มชนชั้นกลาง (รายได้ระดับปานกลาง) ที่รวดเร็วที่สุดในเอเชีย (มีรายได้ 714 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 22,000 บาทต่อเดือน) โดยนีลเส็น กรุ๊ปได้ประเมินว่ากลุ่มชนชั้นกลางในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 44 ล้านคนในปี 2020 และเพิ่มเป็น 95 ล้านคนในปี 2030

ดังนั้น นอกจากเวียดนามจะเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ เพราะมีแรงงานต้นทุนต่ำ ทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพื่อใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกแห่งใหม่ในเอเชีย ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า บรรจุภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แนวโน้มการเติบโตของตลาดภายในประเทศและกำลังซื้อของประชากรที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วก็เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เวียดนามมีความน่าสนใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น

ปัจจัยเกื้อหนุนให้ตลาดภายในประเทศเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว คือ

1.ประชากรที่มีขนาดใหญ่และอายุน้อย เวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากร 97 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย (270 ล้านคน) และฟิลิปปินส์ (109 ล้านคน) และอายุเฉลี่ยของประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ 31 ปี (ไทยอายุเฉลี่ย 38 ปี) นอกจากนี้ ประชากรวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 25-49 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีการเพิ่มของรายได้และการใช้จ่ายสูงมีมากถึงร้อยละ 60 ของจำนวนกำลังแรงงาน ดังนั้น ด้วยขนาดของประชากรและโครงสร้างอายุที่มีสัดส่วนของประชากรที่อายุน้อย และอยู่ในกำลังแรงงานจำนวนมาก ทำให้ตลาดภายในประเทศมีโอกาสเติบโตได้สูง

2.การเติบโตของรายได้ในกลุ่มประเทศอาเซียน 6 ประเทศ เวียดนามเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ต่อหัวต่ำที่สุด คือ 1,900 เหรียญสหรัฐ แต่หากดูจากอัตราการขยายตัวของรายได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ระดับร้อยละ 11 ต่อปี เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในภูมิภาค (สูงกว่าจีนและอินเดียด้วย) จากการที่เวียดนามเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ทั้งที่ย้ายฐานการผลิตจากจีน เนื่องจากสงครามการค้า (จีนและสหรัฐ) มีความน่าสนใจจากความได้เปรียบในด้านต้นทุนแรงงาน

ทำให้การขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยยูโรมอนิเตอร์คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะเท่ากับร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของประชากรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

3.การขยายตัวของความเจริญของเมือง ตั้งแต่ปี 1995 ประชากรโดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี โดยประชากรในเขตเมืองโตขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี ทำให้สัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 ในปี 1995 เป็นร้อยละ 36 ในปี 2018 ธนาคารโลกประเมินว่าอัตราการเพิ่มของประชากรในเขตเมืองจะโตได้ร้อยละ 3.5% ในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

นอกจากนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแรงงานได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างใน 2 ส่วน คือ จากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม (ค่าจ้างเฉลี่ยในภาคอุตสาหกรรมสูงกว่าภาคเกษตรถึง 50%) และจากแรงงานนอกระบบมาสู่แรงงานในระบบ (ลูกจ้างหรือพนักงานบริษัทที่มีเงินเดือน) ซึ่งทำให้มีรายได้ประจำ และมีสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น

4.การเข้าถึงบริการทางการเงิน แม้ว่าปัจจุบันเวียดนามยังเป็นสังคมที่มีการใช้เงินสดในระดับสูง โดยอัตราการมีบัตรเครดิตในเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 6 คือ ประชากร 1,000 คนมีบัตรเครดิตเพียง 65 ใบ แต่โอกาสในการเติบโตยังคงมีสูง เมื่อภาคการเงินมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและรายได้ของประชากร จะทำให้ประชากรสามารถเข้าถึงบริการการเงินได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนชั้นกลางที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

5.รูปแบบการบริโภคที่จะปรับเปลี่ยน ปัจจุบันจะเห็นว่ารูปแบบการบริโภคหรือซื้อสินค้าของคนเวียดนามนั้น ยังมีความแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา โดยการใช้จ่ายกว่าร้อยละ 50 เป็นการซื้อสินค้าในกลุ่มเพื่อการบริโภค (สหรัฐอยู่ที่ 8% และจีน 36%) หากรายได้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รูปแบบการบริโภคก็จะปรับเปลี่ยนโดยจะใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ สันทนาการ รถยนต์ และการศึกษา เป็นต้น