ปีหน้า หนักยิ่งกว่า

ภาพโดย Alexas_Fotos/pixabay
คอลัมน์สามัญสำนึก
พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

โดยปกติเดือนสุดท้ายของทุก ๆ ปี เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการมั่นใจว่า ด้วยบรรยากาศของเทศกาลจับจ่ายปลายปี ไม่ต้องใส่โปรโมชั่นอะไรแรง ๆ คนก็ออกมาใช้จ่าย ยกเว้นปลายปีจะถึงนี้

มอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวผู้เล่นรายใหญ่ ๆ แต่ละเซ็กเตอร์ ทุกคนน่าจะทุ่มกันสุดตัว เพื่อสร้างยอดขายให้มากที่สุด มีทีเด็ดอะไรก็ต้องปล่อยของออกมา

ทราบกันดี ที่ผ่านมาโควิด-19 เข้ามาดิสรัปต์ทุกสิ่ง เศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก ออร์เดอร์ส่งออกชะลอตัวอย่างหนักตามสภาวะเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งปกติจะเข้ามาเที่ยวบ้านเราช่วงปลายปีมากกว่าเวลาอื่น ๆ หายไปเลย

ครั้นจะพึ่งพากำลังซื้อในประเทศ บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา จะไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ สรุปคือทุกคนคงต้องกัดฟันสู้

แวดวงผู้ประกอบการศูนย์การค้า สะท้อนภาพว่า ในแง่ผู้คนที่เข้ามาใช้จ่ายในศูนย์การค้าใหญ่ ๆ โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและชานเมือง ตัวเลขลูกค้าคนไทยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ที่จอดรถไม่พออยู่บ่อย ๆ เรียกว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก ยกเว้นช่วงที่มีม็อบ ที่คนจะหายไปเลย

“ถือเป็นโอกาสทองคนซื้อ เพราะทุกค่ายแข่งกันหนักจริง ๆ ลดราคาแล้วยังมีท็อปอัพ มีอื่น ๆ เพิ่ม พอคู่แข่งทำอะไรแรง ๆ ออกมา เราไม่ทำ เท่ากับเสียโอกาส ลูกค้าอาจเปลี่ยนใจไปซื้อที่อื่น ที่รู้สึกคุ้มค่ากว่า”

ที่จับตากันเป็นพิเศษก็คือ เทรดแฟร์ยักษ์ส่งท้ายปี “มหกรรมยานยนต์” ซึ่งเริ่มขึ้นในต้นเดือนธันวาคมจะถึงนี้

เทียบกับงานแฟร์รถยนต์อื่น ๆ นี่คืองานที่ทำยอดขายได้สูงสุด

ปีนี้อะไรก็ไม่แน่ไม่นอน

แม้ว่าสถานการณ์ตลาดรถยนต์ส่งสัญญาณดีขึ้น กราฟตัวเลขค่อย ๆ ดีขึ้น ต่างจากช่วงครึ่งปีแรกที่ทำกิจกรรมการตลาดอะไรไม่ได้เลย

“ให้คาดการณ์คงยาก แต่เราก็หวังว่าตัวเลขจะดีขึ้น เพราะโดยปกติงานนี้ซึ่งจัดขึ้นช่วงปลายปี เป็นช่วงที่คนจะซื้อรถกัน”

บิ๊กแบรนด์รายหนึ่งแจงว่า “ปกติคนที่กำลังซื้อรถ จะมีกลุ่มใหญ่ ๆ รอซื้อในงาน เพราะเชื่อว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่างานอื่น ๆ”

แต่ปลายปีนี้สถานการณ์ต่างออกไปลิบลับ

ตัวแปรสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เฉพาะปีก่อนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในบ้านเรา 40 ล้านคน สร้างรายได้ถึง 2 ล้านล้าน คิดเป็น 11-12% ของจีดีพี แต่ปีนี้เหลือไม่ถึง 8 ล้านคน หายไปถึง 80%

ในขณะที่คนไทยเที่ยวกันเอง มีตัวเลขใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 1 ล้านล้าน

การจ้างงานของภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนสูงถึง 20% ของการจ้างงานทั้งหมด เทียบกับอุตสาหกรรมการส่งออกมีสัดส่วนการจ้างงานไม่ถึง 4% ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ผู้บริหารเชนโรงแรมระดับประเทศ ยอมรับว่า บิสซิเนสแพลนเดิมที่ทำไว้ ซึ่งคาดว่าตลาดท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาราวกลางปีหน้าเป็นต้นไป ต้องรื้อทิ้งทั้งหมด และมองจุดเริ่มต้นว่าอาจต้องข้ามไปถึงปี 2565 โน่นเลยทีเดียว ที่ทำอยู่ตอนนี้ คือ รักษาคนเอาไว้ และบริหารสภาพคล่องให้ดีที่สุด เนื่องจากสถาบันการเงินมองผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการเป็นเซ็กเตอร์ที่มีความเสี่ยง ไม่มีทางปล่อยสินเชื่อง่าย ๆ

“ยังดีที่คนไทยหันมาเที่ยวในประเทศกันมากขึ้น แต่พอช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่จะมาใช้บริการกันเฉพาะช่วงวันหยุด วันธรรมดาถือว่าตัวเลขไม่ดี แต่ดีกว่าไม่มีรายได้เข้ามา”

ที่ทุกคนเห็นตรงกัน ราวนัดกันไว้…ปีนี้ที่ว่าสาหัสแล้ว ปีหน้าจะหนักยิ่งกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเรายังเผชิญหน้ากันแบบนี้