หมากรุก เกมกระดานแห่งชีวิต

คอลัมน์ นอกรอบ
รณดล นุ่มนนท์

ภาพยนตร์ซีรีส์ Netflix เรื่อง The Queen’s Gambit หรือในชื่อภาษาไทยว่า “เกมกระดานแห่งชีวิต” ดัดแปลงจากนวนิยายของ วอลเตอร์ เทวิส (Walter Tevis) นักเขียนชาวอเมริกัน เป็นเรื่องราวของ เอลิซาเบธ ฮาร์มอน (Elizabeth Harmon) เด็กสาวกำพร้า แสดงโดย อันยา เทย์เลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy) นางเอกสาวสวยเชื้อสายเลือดผสมอเมริกัน อังกฤษ อาร์เจนตินา

เอลิซาเบธ หรือเบธ ถูกส่งตัวไปอยู่ในบ้านเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ได้มีโอกาสรู้จักกับเกมหมากรุกผ่านคุณลุงไชเบล ภารโรงของโรงเรียน ทำให้ค้นพบพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด อย่างไรก็ตาม เธอเติบโตมาในยุค 1960 ที่หมากรุกเป็นเกมกีฬาของผู้ชาย และเป็นช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียต

ซึ่งทั้ง 2 ประเทศพยายามเอาชนะซึ่งกันและกัน แม้แต่กีฬาหมากรุกก็ไม่เว้น ทำให้เบธต้องฝ่าฟันอุปสรรคอย่างหนัก เพื่อเอาชนะใจตนเอง และชนะศึกบนกระดานจนไปถึงจุดเส้นชัย

กีฬาหมากรุกมีมายาวนานกว่าพันปี เชื่อกันว่า ต้นกำเนิดคือประเทศอินเดีย ที่เรียกหมากรุกว่า “จตุรังกา” เพราะมีจารึกอยู่ในตอนหนึ่งของเรื่องรามเกียรติ์ว่า นางมณโฑได้ทำเกมกระดานให้ทศกัณฐ์เล่นเพื่อแก้รำคาญ ในช่วงที่พระรามล้อมกรุงลงกาไว้

โดยจำลองการทำสงครามไว้ในเกมกระดานดังกล่าว ด้วยการนำทหารศึกทั้ง 4 เหล่า มาทำเป็นตัวหมากรุก ประกอบไปด้วย พลม้า พลช้าง พลเรือ และพลราบ (เบี้ย) มาตั้งเล่นบนกระดาน มีขุนหรือพระราชาเป็นหัวหน้าทัพ

การเล่นหมากรุกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทวีปยุโรป กลายเป็นเกมกีฬาที่ผู้คนทั่วโลกนิยมเล่นกัน จนถึงกับมีการแข่งขันชิงแชมป์โลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ปั้นนักหมากรุกชั้นนำ เพื่อแสดงแสนยานุภาพความเป็นเลิศ ชื่อของ มิกเกล โบ๊กวินิค (Mikhail Botvinnik) และ โบริส วาซีเลียวิช สปัสสกี (Boris Vasilievich Spassky) เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะแชมป์หมากรุกโลกในยุคนั้น

แต่ก็มีช่วงหนึ่งที่นักหมากรุกชาวอเมริกันชื่อ บ็อบบี ฟิสเชอร์ หรือ โรเบิร์ต เจมส์ ฟิสเชอร์ (Robert James Fischer) ได้แย่งความเป็นที่หนึ่งของเกมกีฬาหมากรุกมาจากรัสเซีย เมื่อเขาสามารถเอาชนะสปัสสกี และคว้าตำแหน่งแชมป์โลกได้ในปี 1972

ปัจจุบันตำแหน่งแชมป์โลกเป็นของ แม็กนัส คาร์ลเซ่น (Sven Magnus Ehen Carlsen) หนุ่มชาวนอร์เวย์วัย 29 ปี เมื่อเขาสามารถเอาชนะแชมป์เก่า 5 สมัย อย่าง วิศวนาถัน อานันท์ (Viswanathan Anand) ชาวอินเดีย ที่อายุแก่กว่าถึง 20 ปี ในปี 2013 ถือกันว่าแม็กนัสเป็นนักหมากรุกอัจฉริยะ ผู้สามารถคิดการเดินหมากรุกล่วงหน้าได้ถึง 20 ตา

หมากรุกไม่เพียงแต่เป็นเกมการเล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่ยังฝึกฝนให้เป็นคนมีสมาธิ คิดวิเคราะห์ และเรียนรู้ถึงการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้น การเล่นหมากรุกยังได้ให้มุมมองในการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงเวลาด้วย เพราะเกมหมากรุกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงการเปิดเกม ช่วงการเล่นระหว่างเกม และช่วงการปิดเกม เปรียบเสมือนชีวิตของคนเราที่ผ่านวัยเด็ก วัยกลางคน จนถึงวัยชรา

เป็นที่ยอมรับกันว่า การเปิดเกมหมากรุกถือเป็นหัวใจสำคัญ หากเปิดไม่ดีมีสิทธิ์เพลี่ยงพล้ำคู่ต่อสู้ได้ ซึ่ง The Queen’s Gambit คือ รูปแบบการเปิดเกมหมากรุกวิธีหนึ่ง ด้วยการเคลื่อนเบี้ย 2 ตัว ขึ้นไปข้างหน้า ถือเป็นวิธีการเปิดที่นิยมกันในสมัยก่อน แต่เมื่อคู่ต่อสู้จับทางได้ และใช้วิธีการเดินหมากเข้ามาต่อกร จึงต้องหาวิธีการเปิดตัวแบบอื่นเข้ามาทดแทน

ในการเล่นหมากรุก ผู้เล่นต้องศึกษาถึงข้อดีและข้อด้อยของหมากแต่ละตัวอย่างถ่องแท้ เช่น เบี้ยแต่ละตัวก้าวไปข้างหน้าได้เพียงทีละก้าว อาจจะดูเชื่องช้า แต่ถือเป็นองครักษ์ที่ดีให้กับแม่ทัพนายกอง ขณะเดียวกัน ม้าขับเคลื่อนยาก แต่สามารถเดินโลดแล่นไปได้ทั่วกระดาน จนคู่ต่อสู้ตั้งตัวไม่ทัน

ดังนั้นผู้เล่นจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ของหมากทุกตัว ไม่ว่าหมากตัวไหนจะเก่งกาจเพียงไรก็ตาม ในการดำเนินชีวิตคนเราก็เช่นกัน ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้า สร้างจินตนาการ และอาศัยการพึ่งพาซึ่งกันและกัน

การเดินหมากแต่ละตัวต้องคิดและวางแผนให้รอบคอบ มองอย่างรอบด้าน ต้องอ่านใจคู่ต่อสู้ให้ออก เมื่อเชื่อมั่นและตัดสินใจแล้ว ต้องเดินหมากอย่างไม่ลังเล เพราะกติกาของการเล่นหมากรุก คือ เมื่อจับหมากตัวไหนแล้ว ต้องเล่นหมากนั้น เปลี่ยนใจไม่ได้

คำพูดที่ว่า “เดินไม่ดูตาม้าตาเรือ” ก็คงจะเกิดจากเกมหมากรุกที่ไม่ระแวดระวัง จนต้องเสีย “เรือ” นั่นเอง อย่างไรก็ดี เมื่อเดินเกมพลาด และมาถึงสถานการณ์ที่ต้องจับมือเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ก็ต้องยอม ไม่ต้องรอจนคู่แข่ง “รุกฆาต”

เพราะความพ่ายแพ้หมายถึงเส้นทางที่จะต้องกลับมาศึกษาข้อผิดพลาด เพื่อกลับมาแก้ตัวใหม่ เหมือนกับชีวิตคนเรา ที่จะต้องหาทางเลือกที่ดีที่สุด การอ่านเกมขาด วางหมากได้ตรงจุด พร้อมประเมินไปข้างหน้าว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร คือ คุณสมบัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

The Queen’s Gambit ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาพยนตร์ซีรีส์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในปี 2020 การเดินเรื่องเป็นไปอย่างตื่นเต้น ผู้ชมแม้จะเล่นหมากรุกไม่เป็น ก็มีอารมณ์ร่วมนั่งลุ้นหน้าจอตลอด 7 ตอนของภาพยนตร์ ขณะเดียวกัน อันยา เทย์เลอร์-จอย ก็สวมบทบาทของเบธ ที่สามารถตรึงใจผู้ชมได้ตลอดเรื่อง

พร้อม ๆ กับคำคมที่เธอให้สัมภาษณ์นักข่าวนิตยสาร Life ตอนหนึ่งว่า “หมากรุกไม่ใช่เรื่องของการแพ้ การชนะ แต่เป็นเรื่องของความงดงาม สำหรับฉัน ตัวหมากรุกแต่ละตัวเป็นเพียงตัวหมาก กระดานหมากรุกต่างหากที่เป็นสิ่งแรกที่สะดุดใจฉัน เพราะมันเปรียบเสมือนนำโลกทั้งใบมาอยู่ในกระดานที่มีแค่ 64 ช่อง ฉันรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในนั้น เพราะฉันควบคุมมันได้ ปกครองมันได้ แถมยังเดาทางมันออกอีก ฉะนั้น ถ้าฉันพลาดขึ้นมา ก็ต้องโทษตัวฉันแต่เพียงผู้เดียว”

พวกเราเห็นด้วยหรือเปล่าว่า หมากรุกคือเกมกระดานของชีวิต และไม่ทราบว่าท่านใดจะให้ข้อคิดอื่นใดที่สามารถเรียนรู้จากเกมหมากรุก นอกเหนือไปกว่าข้อคิดที่กล่าวถึงในฉบับนี้

แหล่งที่มา : 1/ อิงคุทานนท์, ต., 2020. The Queen?S Gambit: การต่อสู้ของเซียนหมากรุกหญิงในโลกของบุรุษ. [online] ThePeople. Availableat: [Accessed 1 November 2020]. 2/ Zonadeajedrez.com. 2020.ประวัติหมากรุก-หมากรุก หมากรุกไทย เทคนิคหมากรุกไทย วิธีเลน่ หมากรุก กติกาหมากรุกไทย. [online] Available at: [Accessed 1 November 2020]. 3/ ประวัติความเป็นมาหมากรุก เส้นทางสายไหม The Silk Road, October 17, 20174/ Mainstand.co.th. 2020. แม็กนัส คาร์ลเซ่น : อัจฉริยะแชมป์โลกหมากรุกผู้อ่านสถานการณ์ล่วงหน้าได้ 20 ตา. [online] Available at: [Accessed 1 November 2020]. 5/ Storylog.co. 2020. [online] Available at: [Accessed1 November 2020]