
MATICHON BOOK CLUB สาโรจน์ มณีรัตน์
หนังสือเรื่อง “การเมืองเรื่องพระพุทธรูป” ที่มี “วิราวรรณ นฤปิติ” เป็นผู้เขียน เกิดขึ้นจากการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “แนวคิดการรวบรวมพระพุทธรูปช่วงสร้างกรุงเทพฯถึงรัชกาลที่ 5”
ในระดับศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนั้นเพราะ “วิราวรรณ” วิเคราะห์ จนพบเห็นข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะช่วงสร้างมหานครกรุงเทพ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่กล่าวถึงการเก็บรวบรวม และอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อมายังกรุงเทพฯ
“วิราวรรณ” บอกว่า นอกจากจะเป็นเหตุผลทางศาสนา อาจจะอีกเหตุผลที่เกี่ยวเนื่อง และเกี่ยวข้องกับอุดมคติทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการแสดงสถานะทางการเมืองที่เหนือกว่าของชนชั้นนำสมัยสร้างกรุงเทพฯต่อหัวเมืองที่อยู่ในการปกครอง
ที่สำคัญ ยังเป็นการเปิดมุมมองต่อวัตถุศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาใหม่ ด้วยการมองถึงที่มาที่ไปของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ภายใต้ภาวะความเป็นสมัยใหม่ที่แทรกซึมเข้ามาตามกาลเวลา
“วิราวรรณ” ยกตัวอย่าง การอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากหัวเมืองลาว เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โดยมีรายละเอียดบอกว่า การอัญเชิญความศักดิ์สิทธิ์ของพระแก้วมรกต
นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจ ยังพบว่าเป็นการประกาศสถานะทางสังคม ของพระองค์ในระดับกว้าง เพื่อให้เป็นที่รับรู้ถึงความมีบุญบารมีของพระมหากษัตริย์อีกทางหนึ่งด้วยเพราะต่อจากนั้น รัชกาลที่ 1 มีการรวบรวมพระพุทธรูปอีกกว่าพันองค์ เพื่อมาประดิษฐานที่วัดต่าง ๆ
ในเมืองไทย นัยตรงนี้ส่งผลต่อมาถึงอีกหลายรัชกาลในยุคต้นรัตนโกสินทร์ด้วย แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ต้องลองไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านแล้วจะรู้ว่าพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาเท่านั้น หากยังเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอีกทางหนึ่งด้วย
ลองไปหาอ่านดูนะครับ ?