โจทย์ท้าทายหลังข่าวดีวัคซีนโควิด

บทบรรณาธิการ

กลางสัปดาห์นี้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ลอตแรก จำนวน 2 แสนโดสของซิโนแวกจากจีนจะส่งมาถึงประเทศไทยวันที่ 24 ก.พ.นี้ จากนั้นอีก 5 วันจะเริ่มฉีดนำร่องกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงกลุ่มแรก ภายใต้แผนงานที่อนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กำหนดไว้ ตามด้วยการฉีดวัคซีนในระยะที่ 2 ระยะที่ 3 ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องให้ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน

เบ็ดเสร็จตลอดทั้งปี คนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิดรวม 63 ล้านโดส หรือ 31.5 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรรวม 66 ล้านคน ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศและเศรษฐกิจไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ยังต้องตั้งการ์ดสูง ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย และใช้ชีวิตวิถีใหม่แบบ new normal

อย่างไรก็ตาม หลายมาตรการซึ่งก่อนหน้านี้ภาครัฐประกาศบังคับใช้อย่างเข้มงวดจะสามารถผ่อนคลายได้บ้าง เพื่อลดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต การทำงาน หลังการฉีดวัคซีนกระจายทั่วถึงแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่นเดียวกับปลดล็อกให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สะดุดหยุดลงกลับมาเดินหน้าได้

หากการกระจายวัคซีนเป็นไปตามแผนจะส่งผลดีกับทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็ส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือผลทางด้านจิตวิทยา ประชาชน ภาคเอกชนจะคลายความวิตกกังวลในการติดเชื้อแพร่เชื้อ มีความเชื่อมั่น กระตุ้นการค้า การลงทุน ทำให้มีเงินในระบบหมุนเวียน หนุนกำลังซื้อและการบริโภคขยายตัวมากขึ้น

ไม่แปลกที่ประชาชน ภาคเอกชนต่างตั้งตารอช่วงเวลาดังกล่าว เพราะหมายถึงโอกาสในการสร้างยอดขาย รายได้จะกลับมาอีกครั้ง แม้ไม่อาจคาดหวังได้เต็มที่ว่าเมื่อรัฐปลดล็อก ทุกภาคส่วนมีภูมิคุ้มกันโควิด จะพลิกเศรษฐกิจให้ฟื้นได้เร็ววัน เพราะท่ามกลางปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศจากวิกฤตซ้ำซ้อน คนตกงาน รายได้ลด หนี้ท่วม ยังเป็นกับดักที่ต้องฝ่าไปให้ได้

โจทย์ยากและท้าทายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนเวลานี้คือ จะหยิบฉวยจังหวะช่วงข่าวดี-สัญญาณบวกมีวัคซีนโควิดมาปิดจุดเสี่ยงด้านสุขอนามัยที่กำลังจะเป็นจริง จะพลิกสถานการณ์สร้างโอกาสให้กับประเทศได้มากน้อยแค่ไหน ในช่วงเวลาที่มีจำกัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจฐานราก ธุรกิจเอสเอ็มอี ภาคการส่งออก ภาคท่องเที่ยว ฯลฯ ที่กำลังถูกไล่ล่าจากดิจิทัลดิสรัปชั่น และวิกฤตโควิดเป็นตัวเร่งให้ต้องรีบปรับเปลี่ยน ทำให้เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง ก้าวข้ามวิกฤตทั้งภายในภายนอกที่จะมา กระทบในวันข้างหน้า