‘วิกฤตปาล์ม’ ใครน่าสงสารสุด

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

วิกฤตปาล์มวนมาอีกปี หากเล่าแบบย่อย้อนไปเมื่อกันยายน ปี 2563 เกิดปัญหาสต๊อกน้ำมันดิบ (CPO) 5 แสนตัน ล้นเกินปริมาณที่สต๊อกเพื่อความมั่นคงที่ควรมี 2.5 แสนตัน ฉุด “ราคาตกเหลือ กก.ละ 3 บาท” กระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาตรการช่วยเหลือค่าขนส่ง เพื่อหนุนผู้ส่งออกเร่งระบายสต๊อกออกไปต่างประเทศ และส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซล พร้อมใช้โครงการประกันรายได้ช่วยเกษตรกรที่ต้องเดือดร้อนจากราคาตกต่ำ

ผ่านมาถึงเดือนมกราคม 2564 สต๊อก CPO เริ่มลดลงเหลือ 1.5 แสนตัน และเริ่มวิกฤตเหลือ 90,000 ตันในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

เมื่อสถานการณ์ด้านซัพพลายตึงตัว-สต๊อกลด-ผลผลิตรอบใหม่จะออกปลายมีนาคม ก็เริ่มเห็นห้างจำกัดปริมาณการขายน้ำมันปาล์มขวดคนละ 1 ขวด หรือไม่เกิน 3 ขวดบ้าง

จังหวะนั้นระดับราคาผลปาล์มไต่ระดับขึ้นไปถึง กก.ละ 7 บาท ราคา CPO กก.ละ 39-40 บาท แพงกว่าราคาโลกที่ขาย กก. 25-27 บาท และหากคิดเป็นราคาน้ำมันปาล์มขวดต้องขายถึงขวดละ 55 บาท แต่ราคาที่ติดป้ายตามห้างยังอยู่ที่ 48-49 บาท “กรมการค้าภายใน” เลิกมาตรการอุดหนุนส่งออกทันที

2 สัปดาห์หลังจากนั้น อยู่ ๆ ชาวสวนก็โวยว่าถูกกดราคา กก.ละ 2 บาทในวันเดียว ทำให้ราคาผลปาล์มจาก กก.ละ 7 บาท เหลือ กก.ละ 5 บาท ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงปลายฤดู ขณะที่ภาพสต๊อกน้ำมันปาล์มขวดก็กลับมาพรึบเต็มชั้นราวกับเนรมิต และราคาเท่าเดิมคือ 48-49 บาท จึงเกิดคำถามว่าใครเล่นกลกับปาล์มน้ำมัน

ในห่วงโซ่การผลิตปาล์มต้นน้ำ-ปลายน้ำมี 3-4 ทอด นับจากชาวสวน-โรงสกัด-โรงกลั่น โรงงานไบโอดีเซล ไปถึงผู้ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันไทยมีการใช้น้ำมัน CPO เดือนละ 2.2 แสนตัน และเคยขึ้นไปมากที่สุด 2.5 แสนตัน เป็นการใช้ผลิตไบโอดีเซล 1-1.2 แสนตัน ที่เหลือเป็นการใช้แฝงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขณะที่ผู้ส่งออกไม่มีการใช้ในช่วงนี้ เพราะราคาของไทยแพงกว่าราคาตลาดโลก

แต่น่าแปลกใจ เมื่อไปถามชาวสวนกลับยืนยันว่า โรงสกัดไม่ใช่คนกดราคา และเมื่อถามโรงสกัดก็ยืนยันว่าโรงกลั่นไม่ใช่ผู้กดราคา แต่โยนลูกไปที่ “ไบโอดีเซล” ว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด

เหตุผลที่มั่นใจว่าโรงสกัดไม่กดราคา เพราะปัจจุบันจำนวนโรงสกัดเพิ่มมากขึ้น มีกำลังผลิตล้น จนอยู่ในภาวะ “เฟ้อ” และไม่สามารถสับสวิตช์ไปใช้พืชอื่นแทนปาล์มได้ ดังนั้น โรงสกัดต้องแย่งกันซื้อปาล์ม เพื่อให้สามารถผลิตได้ไม่ขาดทุนจึงมีแต่จะช่วยให้ราคาปาล์มแพงขึ้น

ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันปาล์มขวด “เคย” เป็นผู้ที่เดือดร้อนที่สุดในอดีต เพราะกรมการค้าภายในจะต้องออกประกาศกำหนดราคาควบคุมแน่นอน แต่ใน “ปัจจุบัน” ทุกคนเริ่มเข้าใจว่าต้นทุนสูง ราคาซีพีโอ ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่งต่าง ๆ ที่แท้จริงต้องขายขวดละ 55 บาท ทำให้ “เลิกคุมราคา”

แต่หากผู้ผลิตจะขยับราคาน้ำมันปาล์มขวดขึ้นไปตามกลไกตลาด ย่อมเสี่ยงที่จะเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับ “น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นน้ำมันที่คุณภาพดี ทางผู้ผลิตจึงเลือกใช้วิธีลดกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มขวดไปเป็นรูปแบบอื่น เช่น ถุง ปี๊บ หรือขายเข้าโรงงานอุตสาหกรรม มาม่า ปลากระป๋องแทน ผู้บริโภคจะเห็นปาล์มขวดหายไปจากห้างแต่ไปโผล่ที่ตลาดหรือโชห่วย

ส่วน “ผู้ผลิตไบโอดีเซล” ก็อยู่ในภาวะที่กระอักเช่นกัน เพราะต้นทุนขึ้นไป กก.ละ 40 บาท แต่ต้องไปผสมเป็นบี 100 เพื่อขายไปผลิตไบโอดีเซล ไปขายในราคาที่ถูกขีดไว้ลิตรละ 27 บาท ถ้าแพงกว่านั้นก็ต้องใช้กองทุนน้ำมันไปชดเชย สุดท้ายกรรมจะมาตกอยู่ที่ผู้บริโภค

ฟังมาถึงตรงนี้ ดูเหมือนทุกฝ่าย “ติดล็อก” กับปัญหาของตัวเอง โครงสร้างการผลิตปาล์มก็ดูบิดเบี้ยว

ภาครัฐซึ่งต้องสร้างความสมดุลทั้ง “ชาวสวนและผู้บริโภค” ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ ทันทีที่ราคาปาล์มลดลง กก.ละ 2 บาท เหลือ 5 บาท (ซึ่งจริง ๆ ก็ยังเป็นราคาที่มีกำไรจากต้นทุน กก.ละ 3 บาท) แต่รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ได้ลงพื้นที่ด้วยและสั่งการให้ตรวจสอบการจำหน่าย กำชับให้ดูแลเข้มข้น หากพบต้นเหตุการที่ผู้ทำตลาดปั่นป่วนต้องเอาผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ทำให้ราคาขยับขึ้นเป็น กก.ละ 6 บาทกว่าทันที

การดูแลฝั่งผู้บริโภค ถ้าหากปล่อยให้ราคาน้ำมันปาล์มขวดขยับจาก 48-49 เป็น 55 บาท ชาวบ้านต้องแบกรับภาระค่าครองชีพทันที 6-7 บาท แต่ครั้นจะประกาศราคาควบคุมเหมือนเดิม ก็แน่นอนว่าจะทำให้ปาล์มขวดหายเกลี้ยงไปจากชั้น

กระทรวงพาณิชย์จึงปรับสูตรใช้วิธีละมุนละม่อมและเงียบที่สุด ตะล่อมให้ผู้ค้าปลีกซึ่งเป็นกลางทางของห่วงโซ่การผลิตช่วย “ลดค่าธรรมเนียม” ลดต้นทุนช่วยโรงกลั่น และตรึงราคาช่วยผู้บริโภค ซึ่งประเมินว่าวิธีนี้น่าใช้แค่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ผลผลิตใหม่ออก “ห้าง” ยังพอมีสต๊อกบางส่วน “คงอยู่ได้”

นี่จึงควรขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ช่วยทั้งชาวสวนให้มีรายได้กลับมา 1 บาท และช่วยชาวบ้านได้กินน้ำมันปาล์มถูกลง 7 บาท และขอบคุณห้างที่เสียสละ

แต่ประเด็นที่น่าห่วง ต้องมองข้ามชอตไปที่ “การแก้ปัญหาโครงสร้างอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน”

แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมปาล์มเล่าให้ฟังว่า ในช่วง 30 ปี ปาล์มเคยเป็นอุตสาหกรรมที่ซันเซตไปแล้วหลายรอบ เมื่อก่อนปลูกเพียงแค่ 1 ล้านไร่ ถ้าอุตสาหกรรมแย่จริงๆ ตอนนี้คนคงเลิกปลูกไปหมดแล้ว แต่ทำไมจึงมีพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 6 ล้านไร่ ไม่เพียงเท่านั้นโรงสกัดปาล์มมีมากกว่า 19 โรงงานต้องแย่งกันซื้อผลปาล์ม เพราะไทยใช้กำลังการผลิตเพียง 50% เทียบกับมาเลเซียที่ใช้กำลังการผลิต 75%

ที่ผ่านมาไทยไม่เคยจำกัดจำนวนการขยายโรงสกัดว่ารัศมีพื้นที่เท่าไร เปิดได้กี่โรง ไม่เหมือนอ้อย ทำให้มีโรงงานเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังจากมีนโยบายส่งเสริมไบโอดีเซล คนนอกกระโดดเข้ามาลงทุนโรงสกัดจนตอนนี้ล้น ไม่สามารถย้ายหรือลดกำลังการผลิตได้เพราะลงทุนสูง จะให้เปลี่ยนไปใช้พืชอื่นก็ทำไม่ได้ จึงต้องติดอยู่ในวงจรนี้

อย่างไรก็ตาม เขาไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลแก้ปัญหาด้วย “การสร้างสมดุล” เช่น เมื่่อโรงงานไม่มีผลผลิตเข้าส่งเสริมให้ปลูก หรือเมื่อมีโรงงานลดลงก็สั่งโค่นปาล์ม

หลักการแก้ไขปัญหา “ราคาปาล์ม” มีแค่ 2 ทาง คือ เพิ่มราคา หรือลดต้นทุน

ที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธี “เพิ่มราคา” ด้วยการใช้นโยบายกระตุ้นการผลิตไบโอดีเซล ไฟฟ้า แต่ยังเหลืออีกขาหนึ่ง คือ การลดต้นทุน ทำอย่างไรจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่มากขึ้น เช่นถ้ามีปาล์มเด็กอายุ 4-10 ปี จะให้ผลผลิตสูง 3.5 ตันต่อไร่ แต่ถ้าต้นปาล์มแก่อายุ 10-18 ปี ผลผลิตก็จะลดลงเหลือ 2 ตันต่อไร่ แต่หากไทยมีปาล์มที่อายุเกิน 25 ปี ต้องปลูกใหม่ เป็นต้น

ถามว่าไทยควรต้องแก้ปัญหาโครงสร้างอย่างไร เพื่อให้แข่งขันได้ ไทยมี “ยุทธศาสตร์ปาล์มในกระดาษ แต่ไม่เคยปฏิบัติจริงได้เลย” ใครคือคนที่น่าสงสารที่สุด