ทางเลือกทางรอด ฝ่าวิกฤตหนี้

เงิน
บทบรรณาธิการ

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท กับมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้รับการขานรับจากภาคธุรกิจหลายสาขาที่กำลังประสบปัญหา เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐได้มากขึ้น

ทั้งสองมาตรการแม้ ธปท.กับกระทรวงการคลังจะเป็นแกนหลักในการนำเสนอแนวคิด ตลอดจนกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการ แต่จะเป็นจริงไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินในฐานะเป็นแหล่งเงิน รวมทั้งเป็นเจ้าหนี้ กับภาคธุรกิจ ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่กำลังเผชิญวิกฤตหนี้รุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ทำให้ลูกหนี้พอมองเห็นทางออก ช่องทางในการหาแหล่งเงินกู้เสริมสภาพคล่อง ประคับประคองกิจการ และช่วยลดภาระทางการเงินให้กับกลุ่มธุรกิจที่มีหนี้สิน แต่ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยอดขายหด รายได้ลดลงตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดรอบแรกต้นปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้

เป็นการปลดล็อกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยปรับกฎกติกาในการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้เปิดกว้างมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งในแง่วงเงินในการให้สินเชื่อแต่ละราย การเปิดให้ลูกหนี้รายใหม่สามารถยื่นขอสินเชื่อซอฟต์โลนได้ การเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ก็ออกมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ประสบปัญหาโอนทรัพย์ชำระหนี้ และมีสิทธิซื้อคืนทรัพย์สินภายใน 5 ปี และให้ลูกหนี้มีสิทธิเช่าทรัพย์สินดังกล่าวไปดำเนินธุรกิจได้เป็นลำดับแรก

เปรียบเหมือนพัฒนาปรับปรุงถนนที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นดินลูกรัง มีหลุม บ่อลึก ทำให้รถน้อยคันสามารถวิ่งผ่านไปได้ ให้เป็นถนนสายใหม่สะดวกคล่องตัวกว่าเก่า รองรับได้ทั้งรถเล็ก รถใหญ่ แถมมีช่องทางใหม่ให้เลือกใช้เพิ่ม ให้ลูกหนี้มีทางออกทางรอด ขณะที่เจ้าหนี้ก็ได้อานิสงส์ช่วยให้การแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NLP) มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะแปรไปสู่การปฏิบัติสัมฤทธิผลได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจริงใจและการให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ที่สำคัญทั้งสองฝ่ายต้องยอมเสียประโยชน์ ไม่มุ่งเอาเปรียบจนทำให้มาตรการแก้วิกฤตหนี้สะดุด ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ที่สำคัญจะส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจในภาพรวมขับเคลื่อนไม่หยุดชะงัก