ปูพรม…สถานีชาร์จ

ชั้น 5 ประชาชาติ
อมร พวงงาม

ปัญหาโลกแตกไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน ?

คงไม่ต่างจากรถยนต์ไฟฟ้ากับสถานีชาร์จแบตเตอรี่

นักการตลาดหลายคนบอก ถ้าจะให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

จำเป็นจะต้องทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับให้เพียงพอ โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟฟ้า คนถึงจะกล้าใช้

ส่วนนักการตลาดอีกฟากหนึ่งกลับเห็นต่าง หากสร้างสถานีชาร์จไปเยอะแยะมากมาย ถึงเวลาไม่มีใครมาใช้บริการจะเกิดประโยชน์อะไร

ถือเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า

2 เหตุผลนี้ถ้าจะหาคนผิด-ถูกน่าจะยากแล้วล่ะ เอาเป็นว่าทำไปพร้อม ๆ กันเถอะ

วันก่อนบอสใหญ่ เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) “บิ๊กตุ้ม” พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์

ชักชวนไปร่วมเปิดตัว PEA VOLTA ซึ่งเป็นโครงการที่บูรณาการของภาครัฐและเอกชน

ขยายจำนวนสถานีชาร์จให้ครอบคลุมการใช้งานระหว่างจังหวัด

โดย PEA หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และปั๊มน้ำมันบางจาก ผนึกกำลังกันติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

วางแผนว่าจะมีให้ครอบคลุมทุก 100 กม. เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “อีวี อีโคซิสเต็ม” ไปในตัวด้วย

ลูกค้าสามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นของ PEA คิดค่าบริการ 7 บาทต่อยูนิต (ช่วงที่ไฟฟ้าพีก) แต่ถ้าเป็นกลางคืนคนใช้ไฟไม่เยอะประมาณ 4 บาทต่อยูนิต ชาร์จเต็ม 100%ช่วงพีก แค่ 200 บาทนิด ๆ ซึ่งรองรับการชาร์จทั้ง quick charge (DC) และ normal charge (AC)

ถ้าเป็นควิกชาร์จ เอาแค่ 80% ของแบตเตอรี่ไม่น่าเกิน 15 นาที

ดื่มกาแฟสักแก้ว เดินทางต่อได้เลย

สำหรับ PEA VOLTA เปิดให้บริการในสถานีบริการน้ำมันของบางจากแล้ว 12 สถานี

โดยจะเปิดให้ครบ 56 สาขา ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้

หลัก ๆ ตอนนี้ก็จะเน้นเส้นทางหลักที่ไปยังแหล่งท่องเที่ยว

ส่วนอนาคตอันใกล้นี้ PEA VOLTA ก็จะลงลึกไปยังเส้นทางรองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 75 จังหวัด

รวมทั้งสิ้น 263 สถานี ภายในปี พ.ศ. 2566

“เอ็มจีเชื่อมั่นว่าการเพิ่มจำนวนของสถานีชาร์จให้กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะช่วยปลดล็อกความกังวลของคนไทย และทำให้การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น อันจะนำมาซึ่งการนำพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มขั้นในอนาคตอันใกล้” คุณพงษ์ศักดิ์กล่าว

ปัจจุบันเอ็มจีได้ดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จที่ศูนย์บริการเอ็มจีทั่วประเทศแล้วทั้งสิ้น 108 แห่ง

และได้เปิดบริการอย่างเป็นทางการแล้วจำนวน 70 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้สามารถเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงได้แล้วทั้งสิ้น 22 แห่ง

ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่

ถามว่าเพียงพอมั้ย ตอบได้เลยว่าไม่พอ ถ้าต้องการให้แพร่หลายคงต้องปูพรมให้ทั่วและต้องทำให้เร็วด้วย

ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าบอกว่า ประเทศไทยยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าแค่ 647 แห่ง (1,974 หัวจ่าย)

หรือคิดเป็นสัดส่วนสถานีชาร์จ 1 แห่งต่อพื้นที่ 793 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น
แถมกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่

ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่มีมากถึง 28,000 สถานี (90,000 หัวจ่าย) คิดเป็นสัดส่วนสถานีชาร์จ 1 แห่งต่อพื้นที่ 351 ตารางกิโลเมตร

และภายในปี 2573 สหรัฐมีแผนจะเร่งเพิ่มหัวจ่ายขึ้นอีก 500,000 หัวจ่าย คิดเป็น 1 แห่งต่อพื้นที่ 53 ตารางกิโลเมตร

แบบนี้แหละเพียงพอแน่

สำหรับค่ายเอ็มจีเริ่มทำเอ็มโอยูกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเมื่อเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

ครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้า

การติดตั้งและปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอัดประจุไฟฟ้า

เพื่อรองรับการใช้งาน และการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในที่พักอาศัย พร้อมการบำรุงรักษา

ด้านการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาทิ ข้อมูลสถานีชาร์จไฟฟ้าของ PEA พร้อมเครือข่ายอื่น ๆ ให้แก่ผู้ใช้บริการผ่านระบบปฏิบัติการ i-SMART ของเอ็มจี เพื่อรองรับและสร้างความสะดวกสบายในการค้นหาสถานีชาร์จไฟฟ้า และด้านการส่งเสริมและให้องค์ความรู้พื้นฐาน