อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม หนุนไทยเปลี่ยนผ่านสู่ “ยุคดิจิทัล”

มองข้ามชอต
ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม นักวิเคราะห์อาวุโส EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

ในช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมกลับมาเป็นกระแสจากคนทั่วโลกอีกครั้ง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกตอบโจทย์ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตพื้นที่ห่างไกล หลัง SpaceX บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐ เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมภายใต้โครงการ Starlink

ส่งผลให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลที่การติดตั้งโครงข่ายประเภทสายอย่าง fiber optic ทำได้ยากด้วยสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย รวมถึงสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถเข้าถึง จากข้อมูลของสหประชาชาติในปี 2019 อัตราการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรโลกอยู่ที่ 54% โดยแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐยังมีประชากรกว่า 21 ล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้

ถึงแม้การให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะมีมานานกว่า 20 ปี แต่ต้นทุนในการส่งดาวเทียมและอุปกรณ์รับส่งสัญญาณที่สูง ทำให้ผู้ให้บริการต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่สูงตาม เพื่อให้ระยะเวลาการคืนทุนไม่นานนัก และมีโอกาสทำกำไรในช่วงอายุการใช้งานดาวเทียมเฉลี่ยที่ 15 ปี ส่งผลให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมีการใช้งานเฉพาะกลุ่มในวงจำกัด เช่น องค์กรและหน่วยงานราชการ ธุรกิจเดินเรือสมุทร ธุรกิจการทำเหมือง แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล เป็นต้น

ด้วยวิวัฒนาการและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดาวเทียมในช่วงหลัง ทำให้การให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสามารถขยายการให้บริการในลักษณะ global service ทั้งยังช่วยให้ประสิทธิภาพในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ดาวเทียมรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะถูกปล่อยในระดับความสูง 42,000 กิโลเมตร หรือเรียกอีกอย่างว่า วงโคจรค้างฟ้า (geosynchronous orbit)

ระดับความสูงที่ความเร็วโคจรดาวเทียมจะสัมพันธ์กับการหมุนของโลก ทำให้บริการอินเทอร์เน็ตครอบคลุมเฉพาะบางพื้นที่หรือภูมิภาค เป็นการปล่อยกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กหลายร้อยดวงให้อยู่ในตำแหน่งวงโคจรระยะต่ำ (low-earth-orbit : LEO) สูงจากพื้นโลก 500-2,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ดาวเทียมเคลื่อนที่เร็วกว่าการหมุนของโลก ดาวเทียมแต่ละดวงจะสื่อสารระหว่างกันเป็นเครือข่ายและส่งสัญญาณไปยังสถานีบริการภาคพื้นดิน (satellite station network) ที่กระจายอยู่ทั่วโลก

ทำให้ผู้ใช้บริการทุกมุมโลกใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทันทีหลังติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณ นอกจากนี้ ดาวเทียมในระดับ LEO ในตำแหน่งใกล้โลกจะทำให้ความหน่วงเวลารับส่งข้อมูลลดลงจากเดิมเฉลี่ยที่ 600 มิลลิวินาที เป็น 20-40 มิลลิวินาที ขณะที่ความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นที่ 50-150 Mbps ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยความเร็วอินเทอร์เน็ตประจำที่ของโลกที่อยู่ระหว่าง 53-98 Mbps (ข้อมูลเดือนมีนาคม 2021)

จากวิวัฒนาการดังกล่าว นักลงทุนเริ่มเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจมากขึ้น ด้วยเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลเพิ่มสูงขึ้น การแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจอากาศยานช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยในการปล่อยดาวเทียมลดลงกว่า 85% จาก 18,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม (ราว 592,000 บาทต่อกิโลกรัม) ในปี 2000 เป็น 2,720 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม (87,000 บาทต่อกิโลกรัม) ในปี 2020

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาวัสดุที่ใช้ประกอบดาวเทียมให้มีน้ำหนักเบาลดการใช้เชื้อเพลิงจาก 689 กิโลกรัม (Iridium satellite) เป็น 227 กิโลกรัม (Starlink satellite) ทั้งยังสามารถนำกระสวยอวกาศบางส่วนกลับมาใช้ส่งดาวเทียมในครั้งต่อไปได้อีก ทำให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดอัตราการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ถูกลง ดึงดูดผู้บริโภคได้มากขึ้น และยังมีโอกาสในการคืนทุนได้เร็วยิ่งขึ้นจากการให้บริการในรูปแบบ global service

โดยช่วงเดือนตุลาคม 2020 โครงการ Starlink ได้เปิดให้บริการนำร่องไปแล้วในสหรัฐ อังกฤษ แคนาดา อัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 3,100 บาท) ค่าอุปกรณ์เชื่อมสัญญาณ 499 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16,000 บาท) เพียงแค่ 4 เดือนหลังเปิดให้บริการมีผู้สนใจกว่า 10,000 ยูสเซอร์ และเปิดให้ผู้ที่สนใจทั่วโลกจองสิทธิใช้บริการในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ มีโครงการ OneWeb ที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากรัฐบาลอังกฤษ, Bharti Global ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมสัญชาติอินเดีย, Softbank และ Hughes ผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียมของสหรัฐที่คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ global service ได้ในปี 2022

ซึ่งนอกจากการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะตอบโจทย์ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลแล้ว ยังอาจเป็นตัวเลือกของผู้บริโภคในพื้นที่ที่ค่าบริการอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง เช่น Hong Kong ค่าบริการอินเทอร์เน็ตต่อเดือนอยู่ที่ 199.17 ดอลลาร์สหรัฐ (6,373 บาท), Atlanta ในสหรัฐ อยู่ที่ 198.29 ดอลลาร์สหรัฐ (6,336 บาท) และ Amsterdam 105.63 ดอลลาร์สหรัฐ (3,380 บาท) เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมยังเปิดให้ภาคธุรกิจทั่วโลกใช้โครงข่ายดาวเทียมต่อยอดธุรกิจในอนาคต เช่น ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่น Rakuten เริ่มทดลองใช้โครงข่ายดาวเทียมการบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ผ่านโทรศัพท์มือถือในระบบ 4G/5G และ IOT device โดยดาวเทียมจะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ IOT ได้โดยตรงไม่ผ่านสถานีฐาน เช่นเดียวกับ Vodafone Group ได้ร่วมมือกับ AST ของสหรัฐพัฒนาอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่โดยใช้กลุ่มดาวเทียม LEO ขยายโครงข่าย 4G/5G ให้ครอบคลุมกว่า 49 ประเทศทั่วโลกภายในปี 2023

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมยังต่อยอดการให้บริการในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การบริหารจัดการขนส่งให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ การให้บริการ remote maintenance สำหรับเหมืองและแท่นขุดเจาะ เป็นต้น โดย Morgan Stanley ประเมินว่า มูลค่าตลาดอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมโลกจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (12.8 ล้านล้านบาท) ในปี 2040

สำหรับไทยโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการวางโครงข่าย 5G และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแบบสายสัญญาณมากกว่าการให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยต่างลงทุนพัฒนาโครงข่ายการให้บริการต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตประจำที่ของไทยอยู่อันดับ 2 อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ผ่านมือถืออยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของโลก

รวมถึงโครงการอินเทอร์เน็ตของภาครัฐทั้งเน็ตประชารัฐและเน็ตชายขอบที่สนับสนุนให้หมู่บ้านพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ในราคาประหยัด โครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจึงมีแนวโน้มถูกนำมาใช้ขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทย โดย TOT ได้เตรียมสร้างเกตเวย์รองรับบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของ SpaceX ผ่านสถานีฐานขนาดใหญ่ 14 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยี 5G รวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อโครงข่าย fiber optic จากสถานีฐานสำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ในพื้นที่ห่างไกลได้อีกด้วย

ในอนาคตเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้การเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลเป็นไปได้ง่ายขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล