เจ็บแต่ไม่จบ

Photo by REUTERS
คอลัมน์ สามัญสำนึก
พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

เกี่ยวข้องในแวดวงเศรษฐกิจไทยประเมินผลกระทบ “ล็อกดาวน์” ครั้งล่าสุด ไม่น่าจะน้อยกว่า 6 หมื่นล้าน

ความเสียหายที่ว่าจะมากกว่านี้ หากล็อกดาวน์ถูกยืดออกไป

ทำให้ภาคการส่งออกน่าจะเป็นความหวังหนึ่งเดียวของไทยที่ยังหลงเหลือ ส่วนการท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง แม้ว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะเปิดตัวได้ดีพอสมควร แต่คงต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ๆ กว่าที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับมาเป็นปกติ

กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า 5 เดือนแรกของปี 2564 ประเทศไทยส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่ารวม 108,653 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.78% แม้ว่ายังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้า

หลัก ๆ คือ สินค้าเกษตร กลุ่มอาหาร รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

หอการค้าไทยเชื่อว่า ปีนี้ทั้งปีการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน หลาย ๆ ประเทศที่เป็นคู่ค้ากับเราเริ่มฟื้นตัวจากโควิด

แต่ส่งออกของเราใช่ว่าจะราบรื่น แม้ตลาดจะเปิดกว้างต้อนรับ

ปัญหาส่งออกของไทยเหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้ นั่นคือการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะเชื้อเดลต้าที่กำลังอาละวาดอย่างหนัก ซึ่งที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมไทยรับรู้สถานการณ์ดี

ไม่มีใครอยากปิดโรงงาน ไม่มีใครอยากหยุดสายการผลิต

ปัญหาคือ โรงงานใหญ่ ๆ แต่ละแห่งมีแรงงานเป็นหลักพัน คือสาเหตุว่าติดเชื้อขึ้นมาที จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะใช้มาตรการ bubble & seal จำกัดการเคลื่อนที่แรงงาน แต่ได้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะคนก็คือคน จะให้อยู่นิ่ง ๆ กับที่เหมือนเครื่องจักรคงเป็นไปไม่ได้

ขณะที่การฉีดวัคซีนในหมู่ผู้ใช้แรงงาน ยังอยู่ในระดับ 10% เท่านั้น

ทั้งที่ส่งออกคือความหวังสุดท้าย

มองสถานการณ์โดยรวม จากตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันใกล้แตะหลักหมื่น ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับตัวเลขผู้เสียชีวิต

สำคัญที่สุดคือ “วัคซีน” ซึ่งเป็นตัวชี้อนาคต ตัวเลขการฉีดแต่ละวันต่ำกว่าควรจะเป็น สืบเนื่องจาก “แอสตร้าเซนเนก้า” ไม่มาตามนัด ส่วน “ซิโนแวค” ประสบปัญหา ไม่ได้รับความเชื่อมั่น

ที่เคยมองกันว่าล็อกดาวน์ไปถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ใช้เวลาช่วงที่คน work from home ทำงานที่บ้าน ตะลุยฉีดวัคซีนโดยเฉพาะพื้นที่ระบาดสีแดงเข้มให้มากที่สุด ตัดวงจรการแพร่ระบาด ยอม “เจ็บเพื่อจบ” จึงเป็นเพียงแค่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ

โพลย่อย ๆ ที่ “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามบรรดา CEO ล้วนมีคำตอบในท่วงทำนองเดียว เกือบทุกคนลงความเห็น นี่คือความผิดพลาดบริหารจัดการจัดหาวัคซีน ซึ่งไม่สมควรเกิดขึ้นแม้แต่น้อย กว่าจะรู้ตัวว่ามีเงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะคนอื่นสั่งจองกันล่วงหน้า ต้องแลกมาด้วยผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาล

เงินค่าวัคซีนไม่กี่หมื่นล้านเทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐต้องหางบประมาณเพื่อเยียวยาอีกเป็นหมื่น ๆ ล้าน

นี่ถ้ารัฐยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อวัคซีนล่วงหน้า อะไร ๆ คงดีกว่านี้

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบที่ 3 และ 4 ในมุมผู้ประกอบการ-ภาคธุรกิจ ยังหนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง คงเหลือธุรกิจที่แข็งแกร่งจริง ๆ ที่น่าจะพอประคับประคองตัวเอง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เจ้าของกิจการขนาดกลาง ขนาดย่อม ที่สาหัสจริง ๆ ที่ทำได้ในตอนนี้คือ หวังเพียงให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืน ผู้คนกลับมาดำเนินชีวิต วงจรธุรกิจการค้าหวนกลับคืนมาก่อนสิ้นปี เพื่อยืดลมหายใจตัวเองออกไป

ที่คิดว่า “ล็อกดาวน์” แล้วจะ “ จบ” คงมีแต่คนมองโลกแง่ดีจริง ๆ เท่านั้น