สารคดีสั้น “ยายนิล” ผู้สร้างความผูกพัน ครอบครัวไทย ๆ

คอลัมน์ นอกรอบ
รณดล นุ่มนนท์

 

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ชมภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่อง “ยายนิล” (Yai Nin) ที่ทำให้ผมคิดถึงคุณยาย ญาติผู้ใหญ่ รวมทั้งความผูกพันในหมู่วงศาคณาญาติ โดยเฉพาะคุณแม่หญิงแกร่งประจำบ้านเป็นที่สุด

สารคดีสั้นเรื่องนี้นำแสดงโดย ยายนิล นิลวรรณ ภิญโญ นักธุรกิจหญิง วัย 86 ปี และมี แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ (Champ Ensminger) หลานชายลูกครึ่งไทยอเมริกัน วัย 32 ปี ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ บอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตบางส่วนของยายนิลที่น่ารื่นรมย์

ด้วยเวลาเพียง 13 นาที หลานชายก็พาเราไปทำความรู้จักกับยายผ่านการแวะเข้าร้านเสริมสวย เดินตลาดวโรรส ที่คนเชียงใหม่รู้จักกันดี ชมโรงงานแหนม หมูยอ ที่ขายดิบขายดีของคุณยาย

หัวใจหลักคือการเล่าความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ยายกับหลาน แม่กับลูก ที่อุปสรรคใหญ่เป็นทั้งด้านวัฒนธรรม ภาษา และระยะทาง ที่ห่างกันอีกฝั่งโลก

เล่าถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ทุกคนเรียกคุณยายว่า “แม่” เป็นวัฒนธรรมแบบที่คนตะวันตกไม่เข้าใจ แถมด้วยมุมน่ารัก เรียกรอยยิ้มของการพูดอังกฤษคำ อู้คำเมืองคำ

มีบทสัมภาษณ์จัน แม่บ้านที่พูดด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า “ฉันไม่มีพ่อไม่มีแม่ ยายนิลเลี้ยงมาตั้งแต่เด็กเหมือนกับลูกคนหนึ่ง”

ขณะที่ฉากสุดท้าย คุณยายโชว์รูปถ่ายของครอบครัว และเจ้าสุนัขตัวโปรด ที่ลูกหลานส่งผ่านมือถือ พร้อมบอกอย่างอารมณ์ดีว่า “ยายก็มีความสุขอย่างนี้แหละ ลูกหลานส่งมาให้หัวเราะอยู่คนเดียว”

ภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่อง “ยายนิล” (Yai Nin) คว้ารางวัลเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างยายกับหลาน Grand Jury จาก Best Documentary Short ในเทศกาล Seattle Asian American Film Festival 2020

เป็นการฉายครั้งแรกแล้วก็ได้รางวัลเลย แต่หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 เทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ถูกยกเลิก สารคดีเรื่องสั้นนี้จึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการฉาย และการพูดคุยกับผู้ชมทาง on line

แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ หลานชายแท้ ๆ ของคุณยายนิล เกิดที่เชียงใหม่ แต่เมื่ออายุได้ 2 ขวบ ครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ที่อเมริกาบ้านเกิดของพ่อ ไปตั้งรกรากทำธุรกิจร้านอาหารอยู่ที่เมืองสโปแคน (Spokane) มลรัฐวอชิงตัน ซึ่งมีคุณลุงและคุณป้า พี่ชายและพี่สาวของแม่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว

แชมป์สนใจทำภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก เรียนจบปริญญาตรีสาขาภาพยนตร์และมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซีแอตเติล ก่อนไปทำงานกับ Vimeo เว็บไซต์โฮสติ้งชื่อดังในนครนิวยอร์ก

แชมป์ใกล้ชิดกับคุณยายมาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวจะต้องมาเยี่ยมทุกปี ขณะที่คุณยายก็ไปเลี้ยงหลาน ๆ ที่อเมริกาเป็นประจำ แชมป์ประทับใจในความเป็นผู้หญิงเก่งของคุณยาย

แม้จะอยู่ตัวคนเดียว ห่างไกลจากลูกหลานแต่ยังรักษาความสัมพันธ์ของเครือญาติไว้ได้ เป็นผู้มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสงบ ซึ่งลักษณะเช่นนี้มักจะไม่ใช่ภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยชาวเอเชียที่สื่ออเมริกันนำเสนอ

ที่สำคัญคุณยายมีความเป็นไทยแท้ และเมื่อเขาได้มีโอกาสมาทำงานเป็นอาสาสมัคร และจัดทำเวิร์กช็อปให้กับ Documentary Arts Asia ที่เชียงใหม่ เป็นเวลา 2 ปี

เมื่อปี 2562 เขาจึงคิดจะทำสารคดีเรื่องสั้นเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำของครอบครัว และเพื่อจดจำความเป็นไทยให้ได้มากที่สุด

หลานชายใช้เวลาถ่ายทำถึง 2 ปีก่อนเสร็จสมบูรณ์

แชมป์กล่าวว่า รู้สึกเกร็ง ๆ เมื่อให้คุณยายได้ดูสารคดีที่ทำเสร็จ แต่เมื่อคุณยายบอกว่า “Hmm it’s good. It’s okay” แชมป์ปลื้มมาก รู้ทันทีว่าสารคดี เรื่องนี้ได้ทำให้ยายนิลมีโอกาสถ่ายทอดภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยชาวเอเชีย ที่ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข คิดในเชิงบวก สร้างสายสัมพันธ์ ความรักและความผูกพันให้กับครอบครัว

ด้วยความสุดยอดของสารคดีที่มีความยาวเพียง 13 นาที ทำให้ผมอยากรู้จักยายนิลมากขึ้น

โชคดีที่พี่โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนรุ่นพี่ที่เรียนหนังสือด้วยกันสมัยปริญญาตรีที่อเมริกา แถมยังเกี่ยวพันเป็นลูกชายของเพื่อนร่วมรุ่นอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ของคุณแม่ผมอีกชั้นหนึ่ง รู้จักกับลูกสาวยายนิล จึงช่วยให้ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณยายทางโทรศัพท์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

เสียงเพลงรอสายของคุณยาย ผมรู้สึกมั่นใจว่ายายนิล “มีอารมณ์สุนทรีย์ไม่ธรรมดา”

แชมป์พูดถึงคุณยายว่า “แม่บอกว่าคุณยายแต่งตัวเก่ง ชอบใส่เสื้อลายดอก รองเท้าส้นตึกหนาเป็นคืบ ชี (she) เปรี้ยว มาก ๆ”

เสียงคุณยายสดใส อบอุ่น ตลอดเวลาสนทนา 30 นาที ช่างเป็นบรรยากาศเคล้าเสียงหัวเราะ ปนความสุขที่สัมผัสได้

ยายนิลเล่าว่า เป็นชาวเชียงใหม่ มีพี่น้อง 11 คน ครอบครัวทำธุรกิจขายยาเส้น แต่งงานตั้งแต่อายุย่าง 20 คู่ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานโรงงานยาสูบ ตัวเองมีอาชีพเล่นละครพื้นเมืองและพากย์หนัง

แต่เมื่อมีลูก 4 คน ชาย 1 หญิง 3 ก็ตัดสินใจช่วยหารายได้มาจุนเจือครอบครัวเพิ่มเติม ไปทำงานช่วยพี่สาวที่กรุงเทพฯ เริ่มจากทำไส้กรอกอีสานปิ้งขาย แถวย่านสะพานควาย ซึ่งคุณยายภูมิใจมากว่าน่าจะเป็นผู้บุกเบิกให้ชาวกรุงเทพฯได้ลิ้มรส “ไส้กรอกอีสานปิ้ง”

แต่ด้วยการต้องจากบ้าน การสื่อสารไม่สะดวก อดคิดถึงครอบครัวไม่ไหว จึงตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่เชียงใหม่ พร้อมนำสูตรทำแหนมที่พี่สาวสอนให้มาทดลองทำดู

ลองผิดลองถูกอยู่ 5 ปี จนทุนทรัพย์ที่สามีให้มาร่อยหรอ แต่ท้ายสุดสามารถหาสูตรลงตัวเป็นแหนม “ภิญโญ” ที่โด่งดังถึงทุกวันนี้

ยายนิลทราบดีว่า สูตรสำเร็จที่จะสร้างอนาคตของลูก ๆ คือ การศึกษา เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการพึ่งพาความเติบโตของธุรกิจของตัวเอง คุณยายจึงให้การศึกษาที่ดีที่สุดกับลูก ๆ

จำได้ว่าทุก ๆ เช้าจะขี่รถมอเตอร์ไซค์เวสป้า 150 cc พาลูกทั้งสี่ไปโรงเรียน สองคนนั่งซ้อนหน้า อีกสองคนนั่งซ้อนหลัง แต่เพราะเป็นคนตัวเตี้ย เท้าไม่สามารถยันพื้นถนนเมื่อต้องจอดมอเตอร์ไซค์ทำให้รถคว่ำเป็นประจำ

ลูก ๆ หล่นจากรถกระจายไปคนละทิศคนละทาง จนต้องมีสามล้อมาช่วย เมื่อลูก ๆ เรียนจบปริญญาตรีก็ส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐทุกคน ตอนนี้สบายกันแล้วลูก 3 คน และหลาน 7 คน ตั้งรกรากที่นั่น มีงานมีการหมด มีเพียงลูกสาวและหลานอีก 2 คนที่อยู่ที่เมืองไทย

เมื่อมาถึงจุดนี้ ยายนิลก็ปล่อยวางบอกว่า แม้ความเป็นพ่อแม่ไม่มีวันหยุด หรือวันหมดอายุ แต่คิดได้ว่าหน้าที่ของพ่อแม่ควรจะหยุดตรงเส้นไหนให้พอดิบพอดี และเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

ยายนิลเล่าต่อว่า เดินทางไปอเมริกาเลี้ยงหลาน ๆ ทุกปี “พูดไทยบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง ให้ลูก ๆ แปลให้ฟังบ้าง เล่นหัวกันตามประสาไทย ๆ จนหลาน ๆ ติดยายแจ เวลาไปส่งที่สนามบินกลับเมืองไทยจะเข้ามากอดแน่น ร้องไห้กระจองอแง ไม่อยากให้ยายกลับ ฝรั่งถึงกับอุทานว่า ยู ไม่ต้องกลับไปแล้ว”

และก่อนช่วงโควิด-19 ลูกหลานก็จะกลับมาเยี่ยมทุกปี นอกจากนี้ เรายังสื่อสารถึงกันตลอดเวลา สมัยก่อนต้องโทรศัพท์คุยข้ามทวีป เดือน ๆ หนึ่งเสียเงินเป็นหมื่น ถึงตอนนี้ยายนิลต้องปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย เรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ Skype, Facebook LIVE ไปจนถึง LINE หายคิดถึงไปได้มาก

สำหรับงานโรงงานแหนมภิญโญนั้น ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของคนงาน คุณยายเพียงมาช่วยดูแล ทุก ๆ เช้าจะตื่นตี 5 คอยดูการทำงานผ่านกล้องวงจรปิดทาง iPad หากเห็นอะไรไม่สมควรก็จะออกมาสอน

“ยายทำมา 50 ปีแล้ว คนงานบางคนอยู่มานานกว่า 30 ปี เป็นเหมือนลูกหลาน มีความผูกพันด้วยใจ ไม่เสแสร้ง เต็มใจช่วยเหลือจริง ๆ เมื่อมีอะไรเดือดร้อน”

ยายนิลยอมรับว่า บางจังหวะเวลาก็รู้สึกเหงา คิดถึงคู่ชีวิตที่จากไปเมื่อ 10 ปีก่อน แต่บอกตัวเองเสมอว่า ให้ใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุข

“แต่ก่อนชอบเดินทางท่องเที่ยว แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็ไม่ค่อยได้ไปแล้ว แต่ยังชอบหาเวลาไปทำผม แต่งตัวสวย ๆ ออกไปข้างนอกบ้าง” การได้พูดคุยกับลูกหลาน และยังทำธุรกิจ ทำให้คลายเหงาได้บ้าง คงต้องทำต่อไปจนร่างกายบอกว่าไม่ไหวแล้ว

ทุกวันนี้พยายามดูแลสุขภาพ กินผักทุกมื้อ เดินไปเดินมาทั่วโรงงานเป็นการออกกำลังกาย

คุณยายทิ้งท้ายว่า “ในการทำมาหากิน อย่าท้อ อย่าขี้เกียจ ต้องสู้ พร้อมตั้งสติ จะทำอะไรก็ตั้งมั่นว่า จะต้องทำให้ได้ อย่าจับปลาหลายมือ กำลังเรามีทำไป อย่าไปพึ่งคนอื่น เพราะทุกคนต่างมีสิ่งต้องรับผิดชอบ

ขอให้พวกเรามองโลกในแง่ดี รักษาสุขภาพกาย และสุขภาพใจ เพลิดเพลินกับงาน แต่ต้องไม่ประมาท ตั้งการ์ดให้สูง ไม่ต้องกลัวหรอก สักวันเจ้าโควิด-19 จะหายไปเอง” เรื่องราวของ คุณยายนิล-นิลวรรณ ภิญโญ ผ่านสารคดีสั้น “ยายนิล” ได้สะท้อนภาพว่า “การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ขึ้นอยู่กับความคิดในเชิงบวกด้วยเหตุและผล พร้อมสร้างความสุขให้กับตนเองและคนรอบข้าง”

ท้ายสุดขอถามว่า เสียงเพลงประกอบสารคดีเรื่องสั้นนี้ ใครเป็นผู้ประพันธ์ครับ

เอกสารอ้างอิง – 1/Vimeo. 2021. YAI NIN. [online] Available at: <https://vimeo.com/555791846> [Accessed 25 July 2021].

2/ Yai Nin. 2021. About – Yai Nin. [online] Available at: <https://www.yainindoc.com/about>[Accessed 25 July 2021].

3/ The Cloud. 2021. Champ Ensminger ผกก. สารคดีชีวิตยายแท้ ๆ ที่ขายแหนม “ภิญโญ” ในเชียงใหม่จนส่งลูกเรียนอเมริกา. [online] Available at: https://readthecloud.co/champ-ensminger-yai-nin-documentary/

หมายเหตุ – ขอขอบคุณน้องเมธินี เหมริด ที่แนะนำสารคดีสั้น “ยายนิล” เพื่อมาเขียนในฉบับนี้